สรพ. ถอดบทเรียนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปสังกัด อบจ. พื้นที่ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร เก็บข้อมูลประกอบการพัฒนาแนวทางการรับรองคุณภาพสถานบริการปฐมภูมิ ด้าน สสจ.สกลนคร ย้ำสนับสนุน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนทุกด้าน ทั้งคน เงิน ของ มั่นใจช่วงเปลี่ยนจะสามารถเดินหน้าไปได้
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. พร้อมคณะผู้บริหาร สรพ. เดินทางลงพื้นที่ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2565 เพื่อถอดบทเรียนและรับฟังความคิดเห็นการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพัฒนาการรับรองคุณภาพสถานบริการปฐมภูมิ ให้มีคุณภาพที่ตรงต่อความต้องการของประชาชน รองรับการถ่ายโอน รพ.สต. ที่จะเกิดขึ้นอีกหลายพื้นที่ในอนาคต
“การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระยะแรกอาจจะยังมีความขลุกขลักอยู่บ้าง เพราะเป็นภารกิจใหม่ที่ท้องถิ่นยังไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะในเรื่องงานคุณภาพ ที่บางท้องถิ่นอาจไม่รู้ว่าจะตั้งหลักอย่างไร สรพ. เองในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการกำหนดมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ จึงได้พัฒนาแนวทางการรับรองคุณภาพสถานบริการปฐมภูมิ เพื่อเป็นทางเลือกให้ท้องถิ่นนำไปใช้เป็นหลักยึดในการให้บริการ โดยเราทำร่างหลักเกณฑ์ฯต่างๆ เตรียมไว้แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการรับฟังข้อมูลจากหน้างานจริงๆ ว่าเมื่อถ่ายโอนไปแล้วมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้นำไปปรับปรุงแนวทางการรับรองคุณภาพสถานบริการปฐมภูมิให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง”พญ.ปิยวรรณ กล่าว
นายบุญนาค แพงชาติ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า รพ.สต. ใน จ.สกลนคร มีทั้งหมด 168 แห่ง ในปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2565 ได้ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. แล้ว 144 แห่ง คิดเป็น 85% ของ รพ.สต. ทั้งหมด และในปีงบประมาณ 2567 จะมีการโอนย้าย รพ.สต. เพิ่มอีก 5 แห่ง ซึ่งในส่วนของ สสจ.สกลนครเอง ยินดีสนับสนุน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปอยู่กับ อบจ. ในทุกเรื่องเช่นเดิมทุกอย่างทั้ง คน เงิน ของ
นายบุญนาค กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 อาจจะพบปัญหาอุปสรรคบ้าง เพราะหลายเรื่องยังไม่กระจ่าง เช่น ระเบียบข้อบังคับต่างๆ แต่เชื่อว่าเมื่อได้ปฏิบัติจนเห็นปัญหาแล้ว แนวทางแก้ไข กฎระเบียบต่างๆ จะค่อยๆชัดขึ้น และด้วยความที่หน่วยงานต่างๆ ใน จ.สกลนคร ทำงานร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายมาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก
“จริงๆแล้วการกระจายอำนาจก็ไม่ได้เพิ่งมีการดำเนินการ ในปี 2545 มีการปฏิรูประบบราชการและบุคลากรสาธารณสุขในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ย้ายมาจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งนั้น ดังนั้นเชื่อว่าการถ่ายโอน รพ.สต. ในครั้งนี้น่าจะราบรื่นเพราะเหมือนมีพี่น้องไปปูทางไว้แล้ว เช่นเดียวกับงานด้านคุณภาพ ก่อนหน้านี้ก็มีร่อยรอยการพัฒนาคุณภาพมาบ้างแล้ว เช่น รพ.สต.ติดดาว นโยบาย 3 หมอของ สธ. การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลในโรงพยาบาล และเป็นเรื่องดีที่ สรพ. จะเข้ามากำหนดมาตรฐานคุณภาพในระบบปฐมภูมิ”นายบุญนาค กล่าว
ขณะที่ พญ.ธีรารัตน์ พลราชม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุสุมาลย์ กล่าวว่า รพ.สต. ใน อ.กุสุมาลย์ มีจำนวน 6 แห่งถ่ายโอนไป อบจ. 100% และถ่ายโอนบุคลากรไป 89% อย่างไรก็ดี การดำเนินงานต่างๆยังคงเหมือนเดิมเพราะทุกฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกันคือบริการต้องเหมือนเดิม ประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ
สำหรับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลกุสุมาลย์นั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่าน รพ.สต. ที่ขาดแคลนบุคลากรวิชาชีพ ให้ส่งต่อโรงพยาบาลโดยท้องถิ่นอาจจัดบริการรถรับ-ส่งให้ ขณะที่ด้านวัสดุอุปกรณ์นั้น โรงพยาบาลยังสนับสนุนทั้งยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ปลอดเชื้อ ฯลฯ รวมทั้งงานวิชาการ การประชุมต่างๆ ยังเหมือนเดิม
“อนาคตหลังถ่ายโอน ภาพที่มองไม่ชัดยังมีหลายอย่าง เช่น การออกให้บริการประชาชนจะเหมือนเดิมหรือไม่หรือ อบจ.จะจัดบริการเอง นโยบาย 3 หมอ ซึ่งมี รพ.สต. เป็นโซ่ข้อกลางจะเป็นไปในรูปแบบใด งานวิชาการ เรื่องยาและเวชภัณฑ์ งานคุณภาพและการควบคุมใครจะเป็นคนกลางดูแลเรื่องนี้ และความสัมพันธ์อันดีที่เคยเป็นมาจะดียิ่งขึ้นหรือไม่”พญ.ธีรารัตน์ กล่าว
นายพูลธวรรธน์ ภัทรธำรงกุล สาธารณสุขอำเภอกุสุมาลย์ กล่าวว่า การถ่ายโอน รพ.สต. เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นแบบก้าวกระโดด ในเชิงการบริหาร การถ่ายโอนค่อนข้างเบ็ดเสร็จเพราะไปอยู่กับ อบจ. ทั้งหมด แต่ในเชิงภารกิจคิดว่ายังมีการเชื่อมโยงกันอยู่ เช่น การเซ็น MOU ว่า อบจ. จะต้องดำเนินการตามนโยบายสาธารณสุข การทำงานร่วมกัน การกำกับติดตามนิเทศงานร่วมกัน เป็นต้น
นายพูลธวรรธน์ ชี้ประเด็นด้วยว่า ตอนนี้ที่การบริหารจัดการต่างๆยังดูราบรื่นเพราะอาศัยความเคยชิน อาศัยความสัมพันธ์กันมาแต่เดิม แต่ก็ควรมีการสร้างกลไกเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันอย่างเป็นทางการด้วย ตัวอย่างเช่นในระดับจังหวัดมีคณะกรรมการในการประสานการทำงานร่วมกัน แต่เมื่อลงมาในระดับพื้นที่ พอหน่วยงานภายใต้สังกัดกลายเป็นหน่วยงานเพื่อนบ้าน ภาพของการกำกับติดตามภารกิจจึงยังไม่ชัด เช่น ผลงานไม่ได้ตามเป้าหมาย งานคุณภาพไม่ได้ จะทำอย่างไร ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำเร่งด่วนคือการมีคณะกรรมการในระดับอำเภอมารองรับแบบเดียวกับคณะกรรมการในระดับจังหวัดเพื่อเชื่อมโยงการปฏิบัติงานด้วยกัน
น.ส.กรณ์กาญจน์ แก้วดี ปลัดอำเภอกุสุมาลย์ กล่าวว่า ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปอยู่กับ อบจ.แล้ว การเปลี่ยนแปลงคือจากเดิมที่การบริหารการสั่งการเป็นแนวดิ่ง สามารถสั่งการไปยัง รพ.สต. ได้โดยตรง ก็จะเปลี่ยนเป็นแนวราบ เปลี่ยนจากสั่งการเป็นขอความร่วมมือ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการทำงานของ พอช. มีพื้นที่เป็นฐาน มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นแม้จะมีการถ่ายโอนไป อบจ. แต่ก็ยังเป็นพื้นที่ อ.กุสุมาลย์ อยู่ และ พชอ.กุสุมาลย์ ก็จะยังใช้กลไกบริหารแบบเครือข่าย ขอความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกัน
และ นายเฉลิมชัย ขันจำปา ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ระดับอำเภอกุสุมาลย์ กล่าวว่า ในฐานะ อสม. ได้เข้าร่วมประชุมจัดทำแผนเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต. กับทางจังหวัดมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อ รพ.สต. ถ่ายโอนแล้ว และในฐานะ อสม. ก็พร้อมทำงานกับ อบจ. และกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
No comments:
Post a Comment