ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิริธร - 30 ตุลาคม 2563 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ให้แก่ครูและนักเรียนพิการที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างพื้นฐานความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียน เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน รุ่นที่ 1” ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ในการใช้งานบอร์ด KidBright ซึ่งเป็นบอร์ดสมองกลฝังตัว ผลงานวิจัยของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ให้แก่ครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษทั่วประเทศ จำนวน 26 โรงเรียน
ทางด้าน อาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ น.ส.พรพิมล เจี้ยวบุตร ครูผู้ช่วยโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดพังงากล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมว่า ดีใจที่ทางหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญถึงการพัฒนาเยาวชนในหลายภาคส่วนทำให้ทางโรงเรียนได้มีโอกาเข้ามาร่วมในกิจกรรมที่ดี และสามารถนำไปต่อยอดสำหรับการเรียนการสอนให้เด็กๆสนใจมากขึ้น การอบรมในครั้งนี้ทำให้เด็กได้เข้าถึงเทคโนโลยีและเด็กทุกคนให้ความสนใจมาก และนายธนพิพัฒน์ บุญชูวดีสกุล ครูผู้สอนโรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้พูดถึงการที่เข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้มีความประทับใจมาก เป็นโครงการที่ทำให้เด็กมีความรู้เพิ่มเติม ได้คิดในรูปแบบมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ร่วมถึงอาจารย์ที่มาด้วยก็สามารถนำความรู้ไปใช้ต่อได้ในการเรียนการสอน และอยากให้กิจกรรมลักษณะนี้เกินขึ้นบ่อยจะทำให้เด็กมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาต่อไป
No comments:
Post a Comment