เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเปิด “งานวันสถาปนากรมการแพทย์ ครบรอบ 82 ปี ” ที่อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขโดยมีนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีการมการแพทย์ คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และบุคคลากรในสังกัดกรมการแพทย์ร่วมในงาน
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมการแพทย์เป็นกรมวิชาการที่มีภารกิจในการการจัดบริการและการฝึกอบรมการแพทย์เฉพาะทางในระดับตติยภูมิและสูงกว่า เพื่อรองรับการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน และมีการศึกษา วิจัย พัฒนาวิชาการมาเป็นองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อนำไปสนับสนุนสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ในการยกระดับระบบบริการทางการแพทย์ของประเทศให้ได้มาตรฐานสากล โดยมี “ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง” ทั้ง 15 ศูนย์ซึ่งดำเนินงานโดยโรงพยาบาลและสถาบันการแพทย์เฉพาะทางภายใต้สังกัดกรมการแพทย์ เป็นหน่วยพัฒนาบริการและวิชาการจากความเชี่ยวชาญรุ่นสู่รุ่น สืบทอดความเป็น Specialist มาถึงปัจจุบัน ในปีที่กรมการแพทย์ครบรอบ 82 ปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะสนับสนุนทรัพยากรในด้านต่างๆเพื่อให้กรมการแพทย์ได้พัฒนาและขับเคลื่อนภารกิจด้านการแพทย์เพื่อสนับสนุนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข อันจะนำไปสู่การ ลดอัตราป่วย อัตราตาย ให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานวิชาชีพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ให้สมกับคำกล่าวที่ว่า “ 82 ปีกรมการแพทย์ เป็นเลิศวิชาการสู่งานนวัตกรรมที่สมคุณค่า”
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีการมการแพทย์ กล่าวว่า ในปี 2567 นี้เป็นปีที่กรมการแพทย์ครบรอบ 82 ปี แต่จะยังไม่หยุดพัฒนาให้ก้าวทันสถานการณ์โรคและระบบสุขภาพให้ทันสมัยตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้จัดหาบริการทางการแพทย์แบบองค์รวมระดับชาติ โดยมีผลงานโดดเด่นมากมาย อาทิ การพัฒนางานดิจิทัลสุขภาพ Smart Hospital เชื่อมกับการแพทย์ปฐมภูมิโดยเฉพาะการเข้าถึงการดูแลสุขภาพในเขตเมืองที่มีความซับซ้อน พัฒนาการให้บริการ online รูปแบบโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual hospital) เพื่อเป็นต้นแบบการลดความแออัดและการรอคอย
และเพิ่มบริการสำหรับผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลที่มีอาการคงที่แล้ว สามารถพักรักษาตัวตามมาตรฐานโรงพยาบาลได้ที่บ้านแทนการนอนโรงพยาบาล (Home Ward) ได้อีกด้วย เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งยังมีแผนพัฒนาอย่างครอบคลุมในประชากรกลุ่มเฉพาะและกลุ่มเปราะบาง เช่น การดูแลสุขภาพแรงงานไทยในต่างประเทศ จัดทีมดูแลสุขภาพผู้แสวงบุญ ณ ประเทศอินเดีย และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพของกลุ่มเฉพาะและกลุ่มเปราะบาง ด้วยเทคโนโลยีทางไกลและการพัฒนาหรือจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีความทันสมัยและความจำเพาะเพื่อให้ทุกกลุ่มมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การแพทย์แม่นยำ (precision medicine) การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์และระบบนำวิถี และ การฉายรังสีในห้องผ่าตัดหรือหุ่นยนต์ฉายรังสีศัลยกรรมเป็นต้น การดำเนินงานทั้งหมดของกรมการแพทย์มุ่งหวังให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้รับบริการทางการแพทย์และการรักษา ด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ทันสมัย ให้สมกับคำว่า “ทำดีที่สุดเพื่อทุกชีวิต”
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขให้ทำงานร่วมกับกองการต่างประเทศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขในการเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศคือศูนย์อาเซียนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและคุณค่าสังคมผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI) ขึ้นในประเทศไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอาเซียนเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งจะมีการลงนามความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement) ระหว่างรัฐบาลไทยโดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับศูนย์ฯ โดยนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลย์ผลประเสริฐ ประธานศูนย์อาเซียน ในวันที่ 11 มีนาคม 2567 นี้เช่นกัน โดยศูนย์ฯนี้จะมีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย กรมการแพทย์ ซึ่งศูนย์ฯดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านผู้สูงอายุของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ในโอกาสครบรอบ 82 ปี กรมการแพทย์ได้มีการเปิดอาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย เพื่อให้บริการผู้สูงอายุอย่างครบวงจร เน้นหลักป้องกัน ส่งเสริมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีการวางแผนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุรายบุคคลเพื่อคงสมรรถนะร่างกายที่ดี เพื่อให้ผู้สูงอายุของเราได้รับการดูแลและให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ในวันเดียวกันนี้ด้วย
No comments:
Post a Comment