วันที่ 29 มีนาคม 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดพิธีเปิดการอบรมหลักสูตร “วิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 5 (Agriculture and Cooperatives Executive Program : ACE) บูรณาการสร้างเครือข่ายคุณภาพร่วมขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย
ได้รับเกียรติจาก ดร.จรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นประธานในพิธีฯ โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนสาร ธรรมสอน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเกษตราธิการและผู้อำนวยการหลักสูตรฯ นายชวลิต ชูขจร ประธานคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และผู้เข้าอบรมหลักสูตร วกส.รุ่นที่ 5 จำนวน 96 คน เข้าร่วมในพิธีเปิดฯ ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์
นายธนสาร ธรรมสอน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมพิธีเปิดการอบรมหลักสูตร “วิทยาการเกษตรระดับสูง วกส.รุ่นที่ 5 กล่าวภายหลังการปาฐกถาพิเศษว่า “หลักสูตร วกส.” ปัจจุบันถือเป็นหลักสูตรอันดับหนึ่งด้านการเกษตรของประเทศ ที่คัดเลือกบุคลากรด้านการเกษตรที่สำคัญๆ ในประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชน มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิสัยทัศน์ และประสบการณ์ ระหว่างผู้นำภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในรูปแบบ “ประชารัฐ” เพื่อมุ่งสู่การทำเกษตรวิถีใหม่ โดยมุ่งเน้นการนำวิทยาการเกษตรเทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทย ให้มีความพร้อมเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารระดับนานาชาติ ภายใต้นโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล นำโดยนายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ภาคการเกษตรเป็น 3 เท่าภายใน 4 ปี ด้วยกลยุทธ์ตลาดนำ-นวัตกรรมเสริม-เพิ่มรายได้
สำหรับที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการจัดอบรมมาแล้วจำนวน 4 รุ่น ซึ่งภายหลังการอบรมผู้เข้าอบรมสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาบูรณาการเพื่อต่อยอดพัฒนาผลงานวิจัยร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อกระตุ้นตลาดภาคการเกษตรให้กลับมาคึกคักมากยิ่งขึ้น อาทิ สเปรย์พ่นปากผสมสารสกัดฟ้าทะลายโจรป้องกันการติดเชื้อไวรัส การวิจัยด้านการจัดการการผลิตมะขามหวานคุณภาพ การพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับการผลิตถั่วลิสง การแก้ปัญหาวิธีการคัดแยกมังคุดเนื้อแก้วยางไหลออกจากมังคุด ฯลฯ
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในฐานะตัวแทนผู้เข้าอบรบหลักสูตร วกส.รุ่นที่ 5 ว่า หลักสูตร วกส. เป็นหลักสูตรคุณภาพที่ได้รับความสนใจจากผู้นำและผู้บริหารภาคการเกษตรทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่มีการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้อำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การปรับตัวด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ ความสามารถ ของเจ้าของธุรกิจ จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและตลาดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าร่วมอบรมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์อีกด้วย ซึ่งหลักสูตรนี้ผมเชื่อมั่นว่า ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร วกส. รุ่นที่ 5 จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดพัฒนากับหน่วยงานและธุรกิจของตน เพื่อสร้าง Start up ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดได้อย่างแน่นอน
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเกษตราธิการและผู้อำนวยการหลักสูตรฯ กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าว เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และมูลนิธิเกษตราธิการ โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 6 กันยายน 2567 ซึ่งภายในหลักสูตรได้กำหนดเนื้อหาให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงในมิติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคการเกษตร 6 ด้าน ที่ทั้งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 1) Agriculture and Cooperatives Landscape 2) Agricultural Market Mechanisms 3)Technology and Innovation 4) Current Issues for Agriculture Development 5) Research for the Future และ 6) Leadership and Sustainability
นายชวลิต ชูขจร ประธานคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวเสริมว่า สำหรับความพิเศษสำหรับหลักสูตร วกส. รุ่นที่ 5 นี้ ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากรุ่นพี่วกส. ที่มาร่วมต้อนรับและแชร์ประสบการณ์อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการบรรยายและการเสวนาจากวิทยากรระดับชั้นนำของประเทศ อาทิ หัวข้อ “เกษตรกรรมมิติใหม่อาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี” หัวข้อ “Gene Editing แก้ปัญหาโลกเดือด โดย คุณรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร” CLEAN & GREEN ENERGY PRODUCER FOR OUR HEALTY COUNTRY โดย คุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทีพีโอ ไพลิน จำกัด (มหาชน) ฯลฯ
นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาดูงานในประเทศร่วมกับการศึกษาดูงานต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จและเป็นผู้นำด้านการพัฒนาการเกษตร เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงได้เปิดโลกทัศน์ทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในกิจกรรม “OPEN HOUSE” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ สามารถนำแนวคิดและกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร ตลอดจนกระตุ้นสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง สามารถสร้าง Smart Farmer เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ต่อยอดนวัตกรรมการเกษตรยุคใหม่ที่ทันสมัยเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับในหลักสูตร วกส.รุ่นที่ 5 นี้ รวมผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนในแวดวงการเกษตรชื่อดัง ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำภาคการเกษตรชุมชน รวม 96 คนเข้าร่วมหลักสูตร ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 29 มีนาคม - 6 กันยายน 2567 นี้
No comments:
Post a Comment