ENTEC สวทช. ร่วม วช. ส่งมอบ Encase เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ ด้วยวิธีการผลิตทางไฟฟ้าเคมี แก่ 10 โรงพยาบาล ใน 4 จังหวัด - All Miles

Breaking

Home Top Ad

Tuesday, February 22, 2022

ENTEC สวทช. ร่วม วช. ส่งมอบ Encase เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ ด้วยวิธีการผลิตทางไฟฟ้าเคมี แก่ 10 โรงพยาบาล ใน 4 จังหวัด


วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อาคารพระจอมเกล้า กรุงเทพฯ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมแถลงข่าวส่งมอบนวัตกรรม “ENcase” เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีการผลิตทางไฟฟ้าเคมีให้แก่โรงพยาบาล 10 แห่ง ใน 4 จังหวัด เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ “ENERclean” ได้เอง สำหรับใช้ทำลายเชื้อโรคในขั้นตอนการบำบัดมูลฝอยติดเชื้อภายในโรงพยาบาลและใช้ประโยชน์ในสถานการณ์ COVID-19


ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล
ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ก่อให้เกิดปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นอย่างมาก สาเหตุมาจากการควบคุมและป้องกันที่ทำได้ค่อนข้างยาก เชื้อจึงมีโอกาสแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง สถานประกอบการด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน ตลอดจนห้องปฏิบัติการแพทย์ ถือเป็นแหล่งของการแพร่กระจายและกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อจำนวนมาก ดังนั้นการบำบัดมูลฝอยติดเชื้อที่แหล่งกำเนิด จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายหรือผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผลต่อสัดส่วนปริมาณมูลฝอยติดเชื้อและมูลฝอยทั่วไปที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่สอดคล้องกับพื้นที่กักเก็บและประสิทธิภาพการทำงานของเตาเผากำจัดขยะที่ทำได้ต่อวัน ก่อให้เกิดการคงเหลือมูลฝอยติดเชื้อต่อวันที่ไม่ได้ถูกกำจัดในระบบ จนอาจเกิดการปะปนรวมไปกับ มูลฝอยทั่วไปในชุมชน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค โครงการวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นพัฒนาเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนเป็นส่วนประกอบ ด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี หรือ “ENcase” เพื่อผลิตน้ำยา ฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ “ENERclean” ที่มีความพร้อมสำหรับการนำไปใช้งานจริงกับสถานประกอบการด้านสาธารณสุข สำหรับทำลายเชื้อโรคในขั้นตอนการบำบัดมูลฝอยติดเชื้อที่แหล่งกำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อ SARs-CoV-2


โครงการวิจัยดังกล่าว เป็นผลงานวิจัยและพัฒนา โดย ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล และทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. ร่วมกับ ดร.ฐนียา รอยตระกูล และทีมวิจัยชีววิทยาโมเลกุลของไวรัสเด็งกี่และฟลาวีไวรัส ดร.สิทธิรักษ์ รอยตระกูล และคุณภัททิยา ลักษณะเจริญ ทีมวิจัยเทคโนโลยีโปรตีโอมิกส์เชิงหน้าที่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สวทช. ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาชุดผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนเป็นส่วนประกอบด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี สำหรับบำบัดขยะมูลฝอยติดเชื้อภายในสถานประกอบการสาธารณสุข” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่อง “ENcase” ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้ว 10 โรงพยาบาล ใน 4 จังหวัด ได้แก่

1. โรงพยาบาลยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ

2. โรงพยาบาลเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ

3. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ

4. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยางชุมใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ

5. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านผักขะ จังหวัดศรีสะเกษ

6. โรงพยาบาลศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ

7. โรงพยาบาลปากน้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร

8. โรงพยาบาลพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร

9. โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี

10. โรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. และทีมวิจัย หวังว่า “ENcase” เครื่องผลิตน้ำยา ฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ จะเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ช่วยให้โรงพยาบาลสามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อได้เองและนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนของโรงพยาบาลเองด้วย


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนงานวิจัย สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ในการดำเนินโครงการ “การพัฒนาชุดผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนเป็นส่วนประกอบด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี สำหรับบำบัดมูลฝอยติดเชื้อภายในสถานประกอบการด้านสาธารณสุข” ซึ่งทีมนักวิจัย สวทช. ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “ENcase” เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์“ENERclean” มีความพร้อมสำหรับนำไปใช้งานจริงในสถานประกอบการด้านสาธารณสุข ในการทำลายเชื้อโรคในขั้นตอนการบำบัดมูลฝอยติดเชื้อ โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

การส่งมอบ Encase เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีการผลิตทางไฟฟ้าเคมี ให้แก่โรงพยาบาล 10 แห่ง ใน 4 จังหวัดครั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถช่วยให้โรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อได้เองและนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อในโรงพยาบาล รวมถึงช่วยให้ระบบการจัดการมูลฝอย ติดเชื้อภายในโรงพยาบาลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล
นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) กล่าวว่า ENcase เป็นนวัตกรรมเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ ถูกออกแบบให้สามารถผลิตน้ำยาได้ทั้งกรดและด่างจากการทำปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี โดยมีน้ำและเกลือโซเดียมคลอไรด์เป็นวัตถุดิบสำคัญ ภายในเครื่องมีการติดตั้งเซลล์ประจุไฟฟ้าบวกทำให้เกิดน้ำยาที่เป็นกรด และประจุไฟฟ้าลบทำให้เกิดน้ำยาที่เป็นด่าง รวมทั้งยังมีการติดตั้งระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อปรับสภาพน้ำให้บริสุทธิ์ก่อนทำปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้ากับเกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ ทำให้เครื่องสามารถผลิตน้ำยาออกมาได้ทั้งที่เป็นกรดและด่างในเวลาเดียวกัน มีกำลังผลิตน้ำยาได้ถึง 30 ลิตรต่อชั่วโมง แบ่งเป็นกรด 15 ลิตร และด่าง 15 ลิตร โดยกรดที่ผลิตออกมาจะเป็นกรดอ่อนในช่วง pH 4-6 ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีคุณสมบัติเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อ ประกอบด้วยกรดไฮโปคลอรัส (Hypochlorous acid, HOCl) เป็นองค์ประกอบหลัก มีปริมาณคลอรีนมากกว่า 400 ppm และค่า Oxidation-Reduction Potential (ORP) ในช่วง 900-1200 mV ส่วนน้ำยาที่เป็นด่าง ประกอบด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium hydroxide, NaOH) หรือโซดาไฟเป็นองค์ประกอบหลัก สามารถนำไปใช้ทำความสะอาดพื้นผิวหรือล้างคราบไขมันได้


โดยน้ำยาฆ่าเชื้อที่เป็นกรดที่ได้จากกระบวนการผลิตของเครื่อง ENcase ทีมนักวิจัยตั้งชื่อว่า ENERcleanเนื่องจากผ่านการทดสอบแล้วพบว่า มีประสิทธิภาพในการยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่ที่พบในโรงพยาบาล ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานทดสอบผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค (AOAC 955.14, 955.15, 955.17 และ 964.02) ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา และมีประสิทธิภาพในการยับยั้ง/ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) บนพื้นผิวสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีรูพรุนได้ 99.9% ตามมาตรฐาน ASTM E1053-20 ทำให้สามารถประยุกต์ใช้งานด้านการแพทย์และอุตสาหกรรมอาหารได้ และจุดประสงค์สำคัญของการผลิตน้ำยา ENERclean ก็เพื่อใช้ฆ่าเชื้อขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลก่อนนำไปทิ้งหรือกำจัดในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคต่างๆ นอกจากนี้ ENERclean ยังสามารถนำไปใช้ฆ่าเชื้อทดแทนแอลกอฮอล์ ล้างมือ ทดแทนสารฆ่าเชื้อที่เป็นอันตราย จำพวกสารฟอกขาวคลอรีน สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณอาคาร รวมถึงฆ่าเชื้อในอาหาร เช่น ผักผลไม้ ปลา และอาหารทะเล ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณความเข้มข้นของคลอรีน เช่น การผสม ENERclean กับน้ำในสัดส่วน (1:1) หรือคิดเป็นความเข้มข้นคลอรีน 150-200 ppm เหมาะสำหรับฆ่าเชื้อทดแทนแอลกอฮอล์ล้างมือ การผสม ENERclean กับน้ำในสัดส่วน (1:10) หรือคิดเป็นความเข้มข้นคลอรีน 10-50 ppm เหมาะสำหรับฆ่าเชื้อในอาหาร ขณะที่การใช้งาน ENERclean ที่ระดับ 300-500 ppm เหมาะสำหรับ ฆ่าเชื้อกับขยะติดเชื้อ

นายณัฐพล เดชสายบัว ผู้อำนวยการโรงพยายาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลบ้านผักขะ ต.ลิ้นฟ้า อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้ป่วยโควิด-19 เดินทางเข้ามาในพื้นที่ตำบลลิ้นฟ้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การจัดการขยะติดเชื้อและการใช้แอลกกอฮอล์เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงเล็งเห็นว่าหากต้องการลดค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล โดยเข้าร่วมโครงการใช้เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์กับทาง สวทช. ซึ่งภายหลังจากที่นักวิจัยและทีมงานมาติดตั้งเครื่องและอบรมการใช้งาน ทำให้สามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อขยะมูลฝอยติดเชื้อ รวมทั้งการนำไปใช้กับคนหรือผู้ป่วยโควิด-19 ในการล้างมือได้ดี ลดการใช้แอลกอฮอล์ โดยใช้วัตถุดิบตั้งต้นเพียงแค่เกลือบริโภคและน้ำเป็นส่วนผสมเท่านั้น ทำให้ต้นทุนจะน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้แอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อ

1 comment:

  1. The Surgical Steel vs Titanium vs Titanium Blade 2
    The Surgical Steel vs Titanium Blade 2018 ford fusion hybrid titanium 2 is designed with a titanium steel core as it is titanium pipe also suitable titanium hair trimmer for titanium hair trimmer as seen on tv those with a higher performance edge. titanium dental implants and periodontics

    ReplyDelete

Pages