เมื่อวันที่ 15ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วยนายเถลิงศักดิ์ นุชประหาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา และนางสาวศริญญา ใจเย็น รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดพังงา ได้ร่วมหารือถึงแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาผ้าไทย ซึ่งได้มอบหมายให้พัฒนาชุมชนจังหวัดพังงาเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนทุกระดับตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มุ่งเน้นสร้างความรู้ให้กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มทอผ้า ชุมชน และผู้ที่สนใจ ได้ออกแบบผลิตลวดลายผ้าผสมผสานกับเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีความร่วมสมัยและมีความหลากหลาย เพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล สร้างรายได้ จนสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้มีนโยบายในการรณรงค์เชิญชวนข้าราชการทุกหน่วยงานและประชาชนจังหวัดพังงา ร่วมสวมใส่ผ้าไทยเป็นประจำทุกสัปดาห์และทุกโอกาส เพื่อร่วมสืบสานภูมิปัญญาของท้องถิ่น ผ้าถิ่นไทย และความเป็นไทย
จังหวัดพังงา โดยนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา และนางวิภาดา ทิพญพงศ์ธาดา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงา ได้เข้ารับมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี โฮเต็ล แบงค็อก เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครฯ โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธี เพื่อมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ผ้าแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง ได้แก่ “ลาย S ที่ท้องผ้า” หมายถึง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S นี้ หมายถึงความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ “ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ” หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อปวงชนชาวไทย “ลาย S” ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข “ลายต้นสนที่เชิงผ้า” หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ “ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า” หมายถึง ความตั้ง.
พระทัยมั่นในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน
ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน โดยกำหนดเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ภายใต้โครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ได้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
No comments:
Post a Comment