" ศิริราช " ปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้องสำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย - All Miles

Breaking

Home Top Ad

Tuesday, March 22, 2022

" ศิริราช " ปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้องสำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย


วันนี้ (22 มี.ค. 65) เวลา 10.30 น. ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าว “ ศิริราชปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้องสำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย ” โดยมี รศ. นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช รศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช ประธานกรรมการดำเนินการงานเปลี่ยนอวัยวะศิริราชและหัวหน้าทีม ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ พร้อมด้วย ผศ. นพ.สมชัย ลิ้มศรีจำเริญ ผศ. นพ.ประวัฒน์ โฆสิตะมงคล รศ. นพ. เวธิต ดำรงกิตติกุล ทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ และอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์และ นางนภัคพร บุญญา ภิสิทธิ์ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G โรงพยาบาลศิริราช


ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า “ วันนี้เป็นอีกวันสำคัญที่ศิริราชประสบผลสำเร็จในการปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้องพร้อมกันในผู้ป่วยรายเดียว สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งการปลูกถ่ายอวัยวะศิริราชดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 และปลูกถ่ายไตสำเร็จเป็นรายแรกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2516 ต่อมาจึงมีการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นที่สำคัญ ได้แก่ ไต หัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน โดยมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องในทุกปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุดในประเทศไทย 

การปลูกถ่ายอวัยวะถือเป็นการรักษามาตรฐานสำหรับผู้ป่วยที่มีการไม่ทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ในต่างประเทศเริ่มมีการผ่าตัดปลูกถ่ายลำไส้เพื่อรักษา ภาวะลำไส้ทำงานล้มเหลวและภาวะลำไส้สั้นมานานแล้ว แต่เนื่องจากมีกระบวนการผ่าตัดรักษาที่ซับซ้อน มีอัตราการ เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สูง จีงไม่เป็นที่แพร่หลาย แม้ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุดยังมี การผ่าตัดปลูกถ่ายลำไส้เพียงปีละไม่เกิน 200 ราย ล่าสุดในวันนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลประสบ ความสำเร็จในการปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้องสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย ” 


รศ. นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์
ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช กล่าวว่า “ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เห็นถึงความสำคัญของการปลูกถ่ายอวัยวะ ในปี พ.ศ. 2536 จัดตั้งงานเปลี่ยนอวัยวะขึ้น มีบุคลากร ปฏิบัติงานประจำ มีพยาบาลประสานงานปลูกถ่ายอวัยวะปฏิบัติงานเต็มเวลาเป็นแห่งแรกของประเทศ ได้จัดตั้งหอ 2 ผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะโดยเฉพาะ ซึ่งนับเป็นสถาบันแรกของประเทศไทยที่มีการให้บริการปลูกถ่ายอวัยวะครบวงจร ดำเนินการประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลจะได้รับการบริการที่เป็นเลิศ เข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะใช้สิทธิการรักษาใดก็จะได้รับบริการที่มีมาตรฐาน มีระบบบริการอย่างดีสังคมจะได้รับความรู้วิทยาการทางการแพทย์ที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และ คณะฯ จะสร้างองค์ความรู้ในการให้บริการ การคิดค้นพัฒนาต่อยอดงานวิจัย องค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่มีความโดดเด่นในความเป็นเลิศทางด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ นอกจากนี้ โรงพยาบาลศิริราช ให้บริการการรักษาด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ แก่ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา เราได้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะรายที่มีความจำเป็นมาอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะต้องเสียส่วนเกินในด้านการเข้าพักรักษาและค่ายากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นยาที่มีราคาแพง ” 
 

รศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และประธานงานเปลี่ยน อวัยวะศิริราช กล่าวเพิ่มเติมว่า “งานเปลี่ยนอวัยวะศิริราช เป็นหน่วยงานที่ได้รับความร่วมมือจากสหสาขาวิชาชีพที่ มาร่วมทำงานร่วมกันในด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ ทางด้านแพทย์ มีทีมศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการปลูกถ่าย อวัยวะ เช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด ตับอ่อน ทีมอายุรแพทย์ในสาขาที่เกี่ยวข้องดูแลผู้ป่วยและติดตามผู้ป่วยก่อนและหลัง การปลูกถ่ายอวัยวะ ทีมวิสัญญีแพทย์ ที่ได้การดูแลผู้ป่วยระหว่างผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ทีมพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น พยาบาลหอผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะ พยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤต พยาบาลห้องผ่าตัด ทีมเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ด้านยากดภูมิคุ้มกัน ทีมนักโภชนาการ ทีมนักสังคมสงเคราะห์ และที่สำคัญที่สุด คือ ทีมพยาบาลประสานงาน เพราะ เป็นผู้ที่เชื่อมโยงกระบวนการต่าง ๆ ระหว่างผู้ป่วยและทีมแพทย์ ให้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย ต้นแบบของการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว เป็นโมเดลหรือต้นแบบที่ดีที่ทำให้เกิดการดำเนินงานเช่นนี้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ 


ปัจจุบันนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้นำแนวทางการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ “ศูนย์บูรณาการ ความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช” Siriraj Integrated Center of Excellence (SiCOE) โดยเป็นการบูรณาการ พันธกิจด้านงานบริการ การศึกษาและงานวิจัย เข้าได้ด้วยกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยทุกราย ในด้านความสำเร็จของการปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้อง ให้กับผู้ป่วยในครั้งนี้ทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่าย อวัยวะ ประกอบด้วย รศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร หัวหน้าทีมฯ ผศ. นพ.สมชัย ลิ้มศรีจำเริญ ผศ. นพ. ประวัฒน์ โฆสิตะมงคล และ รศ. นพ.เวธิต ดำรงกิตติกุล ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ กล่าวถึงความเจ็บป่วย ซึ่งเป็นเหตุให้มีการปลูกถ่ายอวัยวะแก่ผู้ป่วยว่า “ เมื่อปลายปีพ.ศ. 2561 ทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะได้รับการปรึกษาจากศัลยแพทย์ท่านหนึ่งว่า มีผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อตัดเนื้องอก ดังกล่าวออก ภายหลังการผ่าตัดเกิดหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้องอุดตัน ส่งผลให้ลำไส้เล็กทั้งหมดและอวัยวะในช่องท้องอื่นบางส่วนขาดเลือดมีความจำป็นต้องผ่าตัดอวัยวะเหล่านั้นออก จึงเกิดภาวะลำไส้สั้น ผู้ป่วยไม่สามารถกินอาหาร  และดูดซึมสารอาหารได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จำเป็นต้องใช้สารอาหารทางหลอดเลือดพยุงไปตลอด 


และปรึกษา ถึงความเป็นไปได้ของการปลูกถ่ายลำไส้ให้ผู้ป่วย หลังจากนั้นทางทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อประเมินเบื้องต้น และรับผู้ป่วยมา ดูแลต่อที่ รพ.ศิริราช และทำการประเมินอาการผู้ป่วยโดยละเอียดพบว่า นอกจากภาวะลำไส้สั้นแล้ว ยังมีปัญหา สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมาน คือ บาดแผลเปิดขนาดใหญ่ที่หน้าท้อง ซึ่งมีน้ำย่อยของกระเพาะอาหารรั่วออกมาตลอดเวลา ซึ่งจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทำแผลชนิดพิเศษ และทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดอยู่ตลอด ทีมศัลยแพทย์ฯ จึงทำการผ่าตัดเพื่อปิดบาดแผลนั้น และตัดเนื้อเยื่อที่ตับของผู้ป่วยตรวจดูเพิ่มเติม หลังการผ่าตัดครั้งแรกผู้ป่วยมีอาการปวดลดลงเนื่องจากไม่มีแผลเปิดขนาดใหญ่ที่หน้าท้องแล้ว การดูแลแผลง่ายขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดีขึ้นมาก 

ภายหลังการผ่าตัดครั้งแรก ได้มีการประชุมทีมสหสาขาเพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยต่อ จากการตัดชิ้นเนื้อตับตรวจพบว่า ผู้ป่วยมีภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากการให้สารอาหารทางหลอดเลือดและมีความจำเป็นต้องปลูกถ่าย ลำไส้ ตับ ตับอ่อน และกระเพราะอาหารในคราวเดียวกันจึงจะทำให้ผู้ป่วยหายป่วยได้ แต่เนื่องจากการปลูกถ่ายลำไส้นั้นเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อนในประเทศไทย ทีมฯ จึงต้องประชุม วางแผนและเตรียมการกันหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผ่าตัดใส่อวัยวะให้ผู้ป่วย การผ่าตัดนำอวัยวะออกจาก ผู้บริจาคสมองตาย การกดภูมิคุ้มกันให้ผู้ป่วยซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดในขนาดสูงประกอบกัน นอกจากนี้ยังวางแผนการฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัด และกระบวนการตรวจติดตามหลังผ่าตัดในระยะยาวให้ผู้ป่วยด้วย เมื่อทีมฯ ประเมินว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะ ก็จะลงทะเบียนเพื่อรอรับบริจาค และจัดสรรอวัยวะกับทางสภากาชาดไทย จากนั้นก็รอเมื่อมีผู้บริจาคที่เหมาะสม ทางสภากาชาดไทยก็แจ้งและ ประสานงานให้ทีมเดินทางออกไปเพื่อผ่าตัดนำอวัยวะมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย 


ในกรณีของผู้ป่วยรายนี้ เนื่องจากลำไส้ เป็นอวัยวะที่ค่อนข้างเปราะบาง และทนต่อการขาดเลือดได้ไม่นาน ผู้บริจาคที่เหมาะสมจึงจำเป็นต้องเป็นผู้บริจาคสมองตายที่มีสัญญาณชีพคงตัว ผลตรวจเลือด หมู่เลือดตรงกับผู้ป่วยและการทำงานของระบบต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ดี อยู่ในโรงพยาบาลที่เดินทางได้สะดวกไม่ไกลจาก รพ.ศิริราชมากนัก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องรออวัยวะบริจาค ที่เหมาะสมอยู่เป็นเวลานานกว่า 2 ปี 

จนกระทั่งวันที่ 2 เมษายน 2564 ได้รับทราบจากสภากาชาดไทยมีผู้บริจาคอวัยวะสมองตายที่เข้าเกณฑ์ จึงได้ดำเนินการจัดทีม แยกออกเป็นสองทีม ทีมแรกเดินทางไปผ่าตัดนำอวัยวะออกจากผู้บริจาค ในเวลาที่ไล่เลี่ยกันอีกทีมหนึ่งได้เตรียมการผ่าตัดใส่อวัยวะให้ผู้ป่วยที่ รพ.ศิริราช เมื่อทราบจากทีมผ่าตัดนำอวัยวะออกว่า อวัยวะนั้นดีเหมาะกับการปลูกถ่าย ทางทีมที่ รพ.ศิริราชก็เริ่มทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วย เพื่อเตรียมช่องท้องและเส้นเลือดให้พร้อม เมื่อทีมแรกเดินทางกลับมาถึงก็สามารถผ่าตัดใส่อวัยวะได้ทันที การทำงานที่สอดคล้องกันเช่นนี้ทำให้ลดระยะเวลาการขาดเลือดของอวัยวะให้น้อยที่สุด 

ซึ่งในวันนั้นการผ่าตัดผ่านไปด้วยดี ใช้เวลาผ่าตัดใส่อวัยวะให้ผู้ป่วยประมาณ 7 ชั่วโมง การผ่าตัดในวันนั้น ลำไส้และอวัยวะอื่น ๆ มีการทำงานที่ดีมากตั้งแต่ในห้องผ่าตัด ในช่วงหลังผ่าตัดใหม่ๆ ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีมาก ใช้เวลาอยู่ในห้อง ICU เพียง 5 วัน หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถเริ่มรับประทานอาหารได้เพิ่มขึ้นจนรับประทานอาหารได้ครบ 3 มื้อ และเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย งดการใช้สารอาหารทางหลอดเลือดได้ ทั้งหมดใน 1 เดือนหลังผ่าตัด สามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตกับครอบครัวได้ในวันที่ 12 มิถุนายน 2564 รวมเวลา 72 วัน หลังผ่าตัด ปัจจุบันผู้ป่วยอยู่กับครอบครัว และมาติดตามผลการรักษาสม่ำเสมอ จนถึงเวลานี้เกือบ 1 ปีแล้ว อวัยวะทุก อย่างยังทำงานได้ดี และยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ” 


ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวปิดท้ายว่า “ ความสำเร็จครั้งนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มิใช่แต่ของทีมแพทย์ศิริราช แต่เป็นของประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ของระบบมาตรฐานการแพทย์ที่เป็นเลิศ เทียบเท่าระดับนานาชาติ ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะยังคง พัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เพื่อให้สมกับเป็น “ โรงพยาบาลของแผ่นดิน ” และที่สำคัญความสำเร็จครั้งนี้จะสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มีการบริจาคอวัยวะ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะอวัยวะล้มเหลวมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ จำนวนผู้ที่ประสงค์จะบริจาคอวัยวะยังไม่เพียงพอ 


จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาเพศชายหญิง ทุกวัย ทุกเชื้อชาติที่แข็งแรงปราศจากโรคติดเชื้อ
ร่วมบริจาคอวัยวะได้ หรือถ้ามีญาติที่มีภาวะสมองตาย 
สามารถแจ้งที่งานเปลี่ยนอวัยวะ ศิริราช โทร. 0 2419 8079 

นอกจากนั้นหากมีความประสงค์จะบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ป่วย โรงพยาบาลศิริราชมีกองทุนของโรงพยาบาลศิริราชที่ช่วยให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อย่างเท่าเทียมกัน 
โดยท่านสามารถ ติดต่อบริจาคเข้ากองทุนได้ที่ ศิริราชมูลนิธิ ตึกมหิดลบำเพ็ญ ชั้น 1 รพ.ศิริราช ทุกวัน โทร. 0 2419 7658 - 60

No comments:

Post a Comment

Pages