เมื่อวันที่10 มีนาคม 2565ที่ผ่านมาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางสุพัชรี ธรรมเพชร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้บริหารข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมพิธีเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ครบ 80 ปี พร้อมปรับโฉมใหม่ ศูนย์รวมบริการ One Stop Service Center ให้บริการที่รวดเร็ว ลดการรอคอย รับตัวอย่างผ่านระบบไอ แล็บ พลัส และรายงานผลแบบออนไลน์
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดตั้งขึ้นภายใต้กระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทภารกิจในการให้บริการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ชันสูตรโรค และเฝ้าระวังความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ตลอด 80 ปีที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้มีความทันสมัย มีนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่จากการวิจัยจำนวนมาก และสามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ “ ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง ”
ดร.สาธิตกล่าวต่อว่าจากเหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้แสดงศักยภาพให้เห็นว่า สามารถตรวจยืนยันการติดเชื้อในผู้ป่วย รายแรก ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม จนกระทั่งนำไปสู่การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย Real-time RT-PCR ที่มีความแม่นยำ ถูกต้อง นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยัง ขยายขีดความสามารถในการตรวจเชื้อโควิด 19 ในประเทศให้เพียงพอด้วยการ พัฒนาห้องปฏิบัติการทั่วประเทศให้เป็นเครือข่ายช่วยตรวจการติดเชื้อโควิด 19 ตามโครงการ 1 แล็บ 1 จังหวัดรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการค้นหาผู้ติดเชื้อในทุกพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว และในการระบาดระยะต่อมายังได้ พัฒนาและดำเนินการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ซึ่งทำให้การวางมาตรการป้องกันควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขและของประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“ อีกทั้งยังได้ตอบสนองและร่วมขับเคลื่อนนโยบายให้สมุนไพรไทยเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะพืชกัญชา ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีส่วนร่วมดำเนินการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การสกัด การวิเคราะห์ และการวิจัย เพื่อต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์กัญชาในทางการแพทย์ ผลงานที่ชัดเจนอาทิ การพัฒนากัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ ให้สารสำคัญในสัดส่วนที่ต่างกัน และได้รับการจดทะเบียนรับรองสายพันธุ์ เพื่อเป็นสายพันธุ์อ้างอิงของประเทศไทยแล้ว ซึ่งจะเป็นการพัฒนาและสร้างมูลค่าสมุนไพรไทยสู่สมุนไพรโลก ช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมสมุนไพรเพิ่มขึ้น และยังได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านกัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง”
ดร.สาธิตกล่าวต่อไปว่านอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้จัดตั้งศูนย์รวมบริการ One Stop Service Center เป็นหน่วยงานภายในขึ้นตั้งแต่ปี 2548 สนองนโยบายของรัฐบาล เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวแก่ผู้มาใช้บริการทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน เพื่อให้ศูนย์รวมบริการ One Stop Service Center เป็นหน่วยบริการรับตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ณ จุดเดียว ให้กับผู้รับบริการในการติดต่อและนำส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์สุขภาพตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่การขอรับคำปรึกษาการส่งตัวอย่าง การยื่นคำขอ การขอรับใบอนุญาตรับรอง และการชำระค่าธรรมเนียมการตรวจวิเคราะห์ทำให้ผู้รับบริการสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการให้บริการรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์สุขภาพและขอรับรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ ผลิตภัณฑ์ที่ส่งตรวจ ได้แก่ อาหาร ยา สมุนไพร วัคซีน ชีววัตถุ เครื่องสำอาง วัตถุอันตรายที่ใช้ทางการสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์รังสีและเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้หากผู้ส่งตัวอย่างต้องการปรึกษาข้อมูลด้านวิชาการจะมีนักวิชาการจากห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องให้คำปรึกษาเฉพาะผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่าที่ผ่านมาศูนย์รวมบริการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการให้บริการรับตัวอย่างโดยเฉลี่ยมากกว่า 50,000 ตัวอย่างต่อปี ต่อมาในปี 2563 มีการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้บริการทั้งหมดและได้เพิ่มจุดบริการอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มารับบริการและเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย ร้านค้าสวัสดิการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปร่วมพัฒนายกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ และสินค้านวัตกรรมอื่นๆ ที่คิดค้นโดยนักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร้านค้าองค์การเภสัชกรรม ร้านกาแฟ และเพิ่มพื้นที่ในส่วน Co-working space สำหรับการนั่งทำงานพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือใช้ปฏิบัติงานภายนอกห้องปฏิบัติการ โดยสนับสนุนระบบสัญญาณ wifi เป็นต้น
“ปัจจุบันได้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการรับตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์โดยผ่านระบบออนไลน์ ที่เรียกว่า ไอ แล็บ พลัส (iLab Plus) เพื่อจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์ และรายงานผลวิเคราะห์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-report) ทำให้การบริการรวดเร็ว ลดระยะเวลาในการเดินทางมาติดต่อส่งตัวอย่างและรับผลวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์”
No comments:
Post a Comment