เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการจัดงานวันสถาปนากรมการแพทย์ครบรอบ 80 ปี พร้อมมอบโล่รางวัลแก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่นกรมการแพทย์ ประจำปี 2564 และมอบเกียรติบัตรบุคคลต้นแบบตามค่านิยมกรมการแพทย์ประจำปี 2564 และร่วมพิธีแลกเปลี่ยน MOU กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญาโดยมีนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคคลากรกรมการแพทย์ร่วมในพิธี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขับเคลื่อนพัฒนาระบบบริการสุขภาพและสร้างการแพทย์วิถีใหม่ที่ดีกว่าเดิมโดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพสถานพยาบาลของรัฐ รวมทั้งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้เป็นเรื่องง่าย สะดวก เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว สอดรับกับภารกิจของกรมการแพทย์ที่นอกเหนือจากภารกิจด้านการพัฒนาวิชาการ ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แล้ว ยังมีภารกิจด้านการศึกษา วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหมาะสม การเพิ่มพูนความรู้และทักษะการปฏิบัติงานแก่บุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางที่มีคุณภาพ ให้บริการทางการแพทย์เฉพาะด้าน หรือในระดับตติยภูมิที่ยุ่งยากซับซ้อนอย่างได้มาตรฐาน เพื่อให้ผู้รับบริการหรือประชาชนพึงพอใจและได้รับประโยชน์สูงสุด ในวาระวันสถาปนาครบรอบ 80 ปี ของกรมการแพทย์ ต้องขอขอบคุณบุคลากรของกรมการแพทย์ทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานกันอย่างหนักเพื่อดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับโรคระบาดโควิด 19ในช่วงที่ผ่านมา โอกาสนี้ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆไปได้ด้วยความเข้มแข็ง เพื่อให้พร้อมรับ ปรับตัว กับความท้าทายต่อความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ การดำเนินชีวิตของประชาชน เพื่อเปลี่ยนไปสู่การดำเนินวิถีชีวิตแบบใหม่ได้ในอนาคต
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้กำหนดเป้าหมายการทำงานในปี 2565 ไว้อย่างชัดเจน ด้วยการ“การนำบริการทางการแพทย์ไปหาผู้ป่วย” เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เสมอภาค รวมไปถึงการพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งกรมการแพทย์มีความเป็นเลิศเฉพาะทางมากกว่า 15 สาขา มีการใช้ข้อมูลที่สำคัญในการวิเคราะห์เพื่อวางแผนการจัดการนวัตกรรมทางการแพทย์ ด้วยข้อมูลเชิงลึก คือ ข้อมูลภาระโรค (Burden of Disease) แผนที่การให้บริการ (Service Mapping) รวมทั้งชุดข้อมูลที่สำคัญ เช่น ข้อมูลสถานการณ์สุขภาพ นโยบายกระทรวง ผลสำรวจความต้องการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้ป่วย ประชาชน บุคลากรทางด้านสาธารณสุข ภาคีเครือข่าย และการใช้ฐานข้อมูลนวัตกรรมทางการแพทย์ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกำหนดทิศทางไปสู่การวางแผนระยะ 5 ปี (ปี 2566-2570 )ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในทุกๆ ด้าน
ในปี 2565 นี้ กรมการแพทย์ ครบรอบ 80 ปี ได้ประกาศจุดเน้นให้บุคลากรในสังกัดกรมการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านบริการ ด้านวิชาการ ด้านการสนับสนุน “ 80 ปี กรมการแพทย์ ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต ” ด้วยการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านวิชาการ บริการ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรของกรมฯ ให้มีความพร้อมกับจุดเน้นดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ พัฒนาการดูแลผู้ป่วย NCDs ในรูปแบบ Virtual NCD Clinic พัฒนา DMS Co-Creation Training Center พัฒนาศูนย์การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) รวมทั้งการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนศักยภาพทางการแพทย์ภายใต้ Project “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ของประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยของประชาชน การพัฒนารูปแบบบริการแบบทุกที่ อาทิ มะเร็งรักษาทุกที่ “Cancer anywhere & any kind” การให้บริการดูแลผู้ป่วยทุกคนแบบ VIP “ที่ต้องสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย รอไม่นาน” การพัฒนาสู่องค์กรสมรรถนะสูง โดยไม่ลืมการดูแลใส่ใจกลไกหลักของกรม คือ บุคลากรที่จะต้องเป็นองค์กรแห่งความสุข ที่ได้รับการพัฒนา มีความก้าวหน้า และมีความสุขในการทำงาน ให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมกับการให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่และดีที่สุด
No comments:
Post a Comment