สปคม. กรมควบคุมโรค เผยยอดป่วยฝีดาษวานร กทม. เพิ่มสูงต่อเนื่อง แนะเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง - All Miles

Breaking

Home Top Ad

Wednesday, July 5, 2023

สปคม. กรมควบคุมโรค เผยยอดป่วยฝีดาษวานร กทม. เพิ่มสูงต่อเนื่อง แนะเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง


สปคม. กรมควบคุมโรค เผยยอดป่วยฝีดาษวานร กทม. เพิ่มสูงต่อเนื่อง แนะเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง หากเคย ใกล้ชิดกับคนแปลกหน้าหรือผู้ป่วยฝีดาษวานร ให้สังเกตอาการจนครบ 21 วัน เพื่อป้องกันโรคฝีดาษวานร

นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีรายงานผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานร ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 – 24 มิถุนายน 2566 จำนวน 56 ราย โดยในช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 40 ราย เฉลี่ยสัปดาห์ละ 8 -9 ราย ส่วนใหญ่ชาวไทย เพศชาย อายุอยู่ในช่วง 30 – 39 ปี ประวัติเสี่ยงรับเชื้อจาก การมีเพศสัมพันธ์ และสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน พฤติกรรมเสี่ยงคือการจัดกิจกรรมปาร์ตี้ในสถานที่เฉพาะ 


นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์

นายแพทย์สุทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคฝีดาษวานร (MPOX) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus การแพร่เชื้อในคนเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจหรือตุ่มหนองบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย ผู้ป่วย เริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 5 -21 วัน แนะนำประชาชนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ควรเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก แม้ว่ามี เพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานร ได้ เนื่องจากสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสแบบแนบชิดเนื้อ เลี่ยงไปสถานที่แออัด ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับ ผู้อื่น ล้างมือบ่อย ๆ 

และหากเป็นผู้ที่เคยใกล้ชิดกับคนแปลกหน้าหรือผู้ป่วยฝีดาษวานร โปรดสังเกตอาการ ตนเองจนครบ 21 วัน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกัน บกพร่อง หากมีอาการป่วยรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมทันที 

อาการป่วย ได้แก่ 1. มีไข้ ร่วมกับ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต หรือ 2. มีผื่นหรือตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด ตามใบหน้า ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศ รอบ ทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า อย่างไรก็ตามโรคนี้ส่วนใหญ่หายได้เอง แต่สามารถพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้าน สุขภาพส่วนบุคคล เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีอาการแทรกซ้อน 


สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่ สถานบริการ สุขภาพ โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2521 1668 และอาคารศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2286 0431 หรือ สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

No comments:

Post a Comment

Pages