กรมควบคุมโรคโดย..สปคม.เปิด“คลินิก Medical Fitness to Drive” แห่งแรกของประเทศไทย ให้บริการตรวจสุขภาพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ ฟรี!! ครบวงจร - All Miles

Breaking

Home Top Ad

Thursday, August 24, 2023

กรมควบคุมโรคโดย..สปคม.เปิด“คลินิก Medical Fitness to Drive” แห่งแรกของประเทศไทย ให้บริการตรวจสุขภาพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ ฟรี!! ครบวงจร


ข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยปี 2564 ชี้!! อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะมากที่สุด เกิดจากรถแท็กซี่ 1,193 คัน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ขับขี่ ซึ่งมีอาการป่วยหรือมีโรคประจำตัว หรือมีภาวะอื่นๆ ที่มีผลต่อสมรรถนะในการขับขี่ กรมควบคุมโรคและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันอุบัติเหตุ มอบให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และกองป้องกันการบาดเจ็บ จัดทำ “โครงการพัฒนาระบบการตรวจประเมินความพร้อมทางการแพทย์ ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว (Medical Fitness to Drive) เพื่อลดความเสี่ยงจากการขับขี่ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน”เพื่อยกระดับกระบวนการตรวจสุขภาพและประเมินความสมบูรณ์ของผู้ขับขี่ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลง ผู้ขับขี่และผู้โดยสารปลอดภัยจากโรคและภัยสุขภาพ


นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย 3 ปีย้อนหลัง พ.ศ. 2563 - 2565 (จากข้อมูล 3 ฐาน กรมควบคุมโรค) จำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย โดยปี พ.ศ. 2563, 2564 และ 2565 จำนวนผู้เสียชีวิต 17,831 ราย 16,957 ราย และ 17,379 ราย ตามลำดับ และจากข้อมูลคดีอุบัติเหตุ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ปีพ.ศ. 2564 มีจำนวนอุบัติเหตุทางถนน 79,414 ครั้ง สูงกว่าค่าเฉลี่ย 7 ปี ร้อยละ 2.09 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2563 ร้อยละ 12.84 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่งและรถบรรทุกขนาดเล็ก (ปิคอัพ) ในขณะที่อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมี 2,187 คัน โดยรถแท็กซี่มีการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถโดยสารประเภทอื่น ๆ รองลงมาเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก (รถตู้) และรถโดยสารขนาดใหญ่

ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบติดตามภาวะสุขภาพและสมรรถนะของผู้ขับขี่ที่เชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างสาธารณสุขและกรมการขนส่งทางบก เพื่อนำมาใช้ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จึงเกิดช่องว่าง ทำให้เมื่อผู้ขับขี่เกิดภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคหรือมีความเสื่อมของร่างกายเกิดขึ้นส่งผลต่อสมรรถนะในการขับขี่และยังคงขับขี่ยานพาหนะอยู่โดยขาดการตระหนักรู้ถึงสุขภาพของตนเองและทำใหมีความเสี่ยง อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้


นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์
ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า จากการศึกษา Medical interventions to reduce motor vehicle collisions จะพบผู้ขับขี่ที่มีอาการป่วยหรือมีโรคประจำตัวต่างๆอย่างน้อย 1 โรค หรือร้อยละ 45 มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการขับขี่มากกว่าบุคคลทั่วไป ได้แก่ โรคซึมเศร้า 8.75 เท่า พิษสุราเรื้อรัง 7.24 เท่า โรคลมชัก 5.92 เท่า เบาหวาน 4.49 เท่า หลอดเลือดสมอง 3.50 เท่า โรคสมองเสื่อม 2.92 เท่า


กรมควบคุมโรคและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ทั้ง 5 เสาหลักของประเทศ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์โดยชมรมแพทย์เวชศาสตร์ป้องกันแขนงเวชศาสตร์การจราจร ได้มีมติ
เห็นพ้องถึงความจำเป็นที่ต้องมีการประเมินความพร้อมทางการแพทย์ก่อนการขับขี่ จึงมอบให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองร่วมกับกองป้องกันการบาดเจ็บทำการศึกษา วิจัย พัฒนาต้นแบบ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการทั้งประเทศ โดยการจัดทำ “ โครงการพัฒนาระบบการตรวจประเมินความพร้อมทางการแพทย์ ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว (Medical Fitness to Drive) เพื่อลดความเสี่ยงจากการขับขี่ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน” ขึ้น และจำเป็นที่จะต้องมีศูนย์ต้นแบบในการดำเนินงาน “คลินิก Medical Fitness to Drive”ที่มีการจัดให้บริการอย่างครบวงจร เพื่อประเมินความพร้อมในการขับขี่เป็นแห่งแรกของประเทศโดยเริ่มในกลุ่มผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะในพื้นที่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อยกระดับกระบวนการตรวจสุขภาพและประเมินความสมบูรณ์ของร่างกาย (Fitness) ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างเข้มข้นตามที่กฎหมายกำหนด ก่อนออกใบอนุญาตขับขี่ หรือ fitness to drive ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ขับขี่สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัย อันจะส่งผลให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนลดลงรวมถึงทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารปลอดภัยจากโรคและภัยสุขภาพ


นายแพทย์สุทัศน์ กล่าวและอธิบายว่าสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ได้แก่ พัฒนาระบบข้อมูลให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพและสมรรถนะของผู้ขับขี่ ฐานข้อมูลผู้ขับขี่เพื่อใช้เชื่อมโยงกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อเพิ่มการเฝ้าระวังให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัย ด้านการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อจัดระบบบริการคลินิก Medical Fitness to Drive ให้สอดคล้องเหมาะสมกับคู่มือการตรวจประเมินสมรรถนะความพร้อมในการขับขี่ รวมถึงการจัดเตรียมสถานที่จัดบริการคลินิกตรวจประเมินความพร้อมทางการแพทย์ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตแล้วเพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงานคลินิก Medical Fitness to Drive

คลินิก Medical Fitness to Drive” มีบริการตรวจสุขภาพให้แก่ผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ และตรวจสมรรถนะทางร่างกาย ได้แก่ การคัดกรองสุขภาพทั่วไป การตรวจเลือด - ปัสสาวะ การตรวจการมองเห็น การตรวจการได้ยิน เอกซเรย์ปอด การตรวจสุขภาพจิต ตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด กรณีพบความผิดปกติจะมีการนัดให้มาตรวจการนอนหลับและการตัดสินใจ และสมรรถนะในการขับขี่รถยนต์ต่อไป

ปัจจุบัน “คลินิก Medical Fitness to Drive” ได้เปิดให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศแล้ว โดยผู้เข้ารับบริการต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะแล้วเท่านั้น เข้ารับบริการได้ที่ ชั้น 3 อาคาร 3 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ตั้งแต่บัดนี้ (เฉพาะวันอังคาร - วันศุกร์) หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 -15.00 น. ฟรี!! ค่าบริการตรวจสุขภาพ พร้อมรับค่าตอบแทนการเสียเวลา (รับจำนวนจำกัด) โทรสอบถามและ
นัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ ได้ที่ 02-5514349, 02-5211668 หรือจองคิวเพื่อนัดหมายเข้ารับบริการได้ที่ http://ossiudc.ddc.moph.go.th/


ว่าที่ร้อยเอกสรรเพชร ตนวัฒนาไพบูลย์ พนักงานขสมก. หนึ่งในผู้มารับบริการจาก “คลินิก Medical Fitness to Drive”เล่าว่าที่เข้ามาร่วมการประเมินความพร้อมทางการแพทย์ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ผู้ที่ขับขี่รถยนต์สาธารณะทั้งรถแท็กซี่และรถโดยสารประจำทางให้เข้ามารับการทดสอบ มีหลายอย่างที่เราอาจยังไม่เคยรับการทดสอบมาก่อน เช่น การได้ยิน การตรวจสายตา ตรวจการมองเห็น ตรวจการทำงานของปอด ตรวจสุขภาพจิต นอกจากจะทำให้เราได้ทราบสมรรถนะความพร้อมของร่างกายตนเอง สามารถขับขี่ควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน แล้วยังช่วยให้ผู้โดยสารเกิดความปลอดภัยด้วย

No comments:

Post a Comment

Pages