เปิดโครงการ Rabbit Crossing ผ่านบิลบอร์ด ทั่วกทม. หลังครอบครัวเปิดแคมเปญรณรงค์ “ทางม้าลายกระต่ายน้อย”และ เพจเฟซบุ๊ค Rabbit Crossing - All Miles

Breaking

Home Top Ad

Saturday, September 3, 2022

เปิดโครงการ Rabbit Crossing ผ่านบิลบอร์ด ทั่วกทม. หลังครอบครัวเปิดแคมเปญรณรงค์ “ทางม้าลายกระต่ายน้อย”และ เพจเฟซบุ๊ค Rabbit Crossing


เปิดโครงการ Rabbit Crossing ผ่านบิลบอร์ด ทั่วกทม. หลังครอบครัวเปิดแคมเปญรณรงค์ “ทางม้าลายกระต่ายน้อย”และ เพจเฟซบุ๊ค Rabbit Crossing เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์และการเฉี่ยวชนบนทางม้าลาย หลังสถิติคนเดินถนนถูกรถชนตรงทางม้าลายปีละ 1,200 คน


เมื่อวันที่ 2 ก.ย. นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล และนพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล มารดาและบิดาของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ที่จากไปด้วยอุบัติเหตุรถชนขณะข้ามทางม้าลายเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 และคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาล ได้เปิดตัวโครงการ Rabbit Crossing รณรงค์กระตุ้นจิตสำนึกคนไทยให้ชะลอ หยุดรถ และ ไม่แซงบนทางม้าลาย โดยได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท Plan B ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการและรับจ้างผลิตสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัย สื่อโฆษณาดิจิทัลกลางแจ้ง ให้ความอนุเคราะห์ในการขึ้นป้าย โครงการ Rabbit Crossing ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มเปิดตัวภาพสื่อดิจิทัลกลางแจ้งทั่วกทม.ไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา


นางรัชนี กล่าวว่า ครอบครัวหมอกระต่ายขอขอบคุณลูกๆ จาก Rabbit Crossing ขอบคุณบริษัท Plan B media ซึ่งร่วมกันสานฝันสร้างวัฒนธรรมใหม่ของสังคมไทย เเละขอบคุณคนไทยทุกๆ คน ที่เล็งเห็นถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนคนบนทางม้าลายที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ก็ได้ริเริ่มทำโครงการ “ทางม้าลายกระต่ายน้อย”ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก “ระลึก ระวัง ระงับ”เพื่อเป็นการร่วมระลึกถึงแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย” โดยจัดทำสัญลักษณ์ผ่านโลโก้กระต่ายสีชมพู เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกที่ดีด้านวินัยจราจร ทั้งผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนน ให้มีการสัญจรอย่างมีสติ หยุดคิด และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยหลังจากทำโครงการก็มีสถานที่หลายแห่งนำไปเป็นต้นแบบ เช่น โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ฯลฯส่วนครั้งนี้ เป็นข้อความเตือนสติผู้ขับขี่ให้ "ชะลอ หยุด ไม่แซง"ที่ทางม้าลาย เพื่อเราทุกคนจะได้ข้ามไปอย่างปลอดภัย"อย่าให้ความปลอดภัยของทุกคนเป็นเรื่องที่ถูกลืม"


คุณแม่หมอกระต่าย บอกอีกว่า บางประเทศที่สามารถแก้ปัญหาจนลดอัตราความสูญเสียบนท้องถนนได้ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี แม้แต่จีน ซึ่งเคยเป็นสังคมจักรยานและจักรยานยนต์เป็นส่วนใหญ่ ก็กำหนดมาตรการที่ทำให้อุบัติเหตุบนถนนลดลงได้ แต่ประเทศไทยไม่กวดขันเรื่องการเคารพกฎหมาย ขาดมาตรการเกี่ยวกับทางม้าลาย มีแต่การตีเส้น ไม่มีอย่างอื่นรองรับ ป้ายบอกทางม้าลายไม่ถูกต้อง ไม่เป็นการเตือนล่วงหน้า แต่ติดไว้ในระยะกระชั้นชิดที่คนขับรถไม่สามารถชะลอความเร็วได้ทัน คนขับรถไม่เคยมีคู่มือเรื่องการระวังคนเดินข้ามทางม้าลาย การสอบใบขับขี่ก็ไม่เน้นเรื่องนี้ คนเดินถนนก็ไม่มีเครื่องหมายที่เอื้อทางสายตาให้สังเกตเวลาที่ยานยนต์ที่กำลังแล่นมา ซึ่งครอบครัวเราไม่ต้องการให้ความตายของหมอกระต่าย เป็นความตายที่สูญเปล่า

นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล คุณพ่อของหมอกระต่ายบอกว่า ไม่อยากให้เป็นแค่กระแส ที่สักพักคนก็ลืม ทั้งๆที่เหตุการณ์ชนคนบนทางม้าลายเกิดขึ้นตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการรณรงค์ในวงกว้างจากภาครัฐ ไม่เห็นผู้นำประเทศหรือนักการเมือง ทำเรื่องนี้อย่าง ที่น่ากังวลคือ กรุงเทพฯ เป็นสังคมจักรยานยนต์เต็มรูปแบบ ยิ่งต้องกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุสูญเสียซ้ำซาก


พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์
หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ระบุว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือร้อยละ 84.16 เช่นเดียวกับข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขนส่งทั้งหมดชี้ว่าการสูญเสียร้อยละ 80 เกิดจากการใช้จักรยานยนต์ สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่ารถจักรยานยนต์เป็นพาหนะยอดนิยมสูงสุดของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง และจากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน พบว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 1.25 ล้านคน บาดเจ็บ 20-50 ล้านคนในแต่ละปี และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรก็เป็นสาเหตุการตายในลำดับต้น ๆ ของคนไทย โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ที่ทำให้คนไทยตายเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน มาตลอด และยังไม่มีแนวโน้มว่าปัญหานี้จะลดลง แม้มีงานวิจัยพบว่าการลดความเร็วของผู้ขับขี่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สถานศึกษา จะช่วยลดการบาดเจ็บของผู้ใช้ถนนทั้งหมด รวมทั้งผู้ขับขี่จักรยาน จักรยานยนต์ และคนเดินเท้า


นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพี่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์หนึ่งว่า แต่ละปี มีคนเดินถนนที่ถูกรถชนโดยเฉลี่ยประมาณ 20,000 คน เฉพาะที่ถูกชนตรงทางม้าลายคิดเป็นร้อยละ 6 หรือประมาณ 1,200 คน

#ทางม้าลายกระต่ายน้อย

#คุณหมอกระต่ายพญวราลัคน์สุภวัตรจริยากุล

No comments:

Post a Comment

Pages