สสส. หนุนภาคีภาคใต้ขับเคลื่อน “ โรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ 14 จังหวัดภาคใต้ ” ชู!! วัด โรงเรียน มัสยิด เป็นพื้นที่ต้นแบบปลอดบุหรี่ - All Miles

Breaking

Home Top Ad

Monday, January 16, 2023

สสส. หนุนภาคีภาคใต้ขับเคลื่อน “ โรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ 14 จังหวัดภาคใต้ ” ชู!! วัด โรงเรียน มัสยิด เป็นพื้นที่ต้นแบบปลอดบุหรี่


สสส. หนุนภาคีภาคใต้ขับเคลื่อน “โรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ 14 จังหวัดภาคใต้” ชู!! วัด โรงเรียน มัสยิด เป็นพื้นที่ต้นแบบปลอดบุหรี่ เดินหน้าสานพลังพหุวัฒนธรรม เสริมศักยภาพชุมชน ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ ตัดวงจรนักสูบหน้าใหม่

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566  น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), นายสัตวแพทย์ปกรณ์ สุวรรณประภา ประธานมูลนิธิคนเห็นคน, ผู้นำศาสนา ผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทั้ง 70 แห่ง ร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อน “ โรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ 14 จังหวัดภาคใต้ ” ณ ห้องประชุมโรงเรียนประทีปศาสน์ปอเนาะบ้านตาล ต.กำแพงเซา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช


น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ
ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันยาสูบยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่บั่นทอนสุขภาวะคนไทย แม้ว่าภาพรวมอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 20.7 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 17.4 ในปี 2564 อย่างไรก็ตามภาคใต้ยังคงมีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดในทุกรอบการสำรวจ คือ ร้อยละ 22.4 โดยกลุ่มอายุที่น่าเป็นห่วงคือเยาวชนอายุ 15-24 ปี “จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. จึงเน้นสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ โดยร่วมกับภาคีในพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อน “โรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ 14 จังหวัดภาคใต้” ซึ่งโรงเรียน “ปอเนาะ” มีรูปแบบการเรียนการสอนตามหลักสูตรสามัญร่วมกับการสอนศาสนา ประกอบกับการอยู่อาศัยแบบโรงเรียนประจำ ทำให้การดำเนินงานด้านการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในโรงเรียนปอเนาะมีความเข้มข้น มีเอกลักษณ์และมีจุดเด่นเฉพาะตัว 


ซึ่งเป็นการใช้ 7 มาตรการของโรงเรียนปลอดบุหรี่มาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียน ประกอบด้วย (1) การกำหนดนโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่ (2) การบริหารจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ (3) การจัดสภาพแวดล้อมตามกฎหมายโรงเรียนปลอดบุหรี่ (4) การสอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการจัดการเรียนรู้ (5) นักเรียนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดบุหรี่ (6) การดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่ และ (7) มีกิจกรรมร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพื่อตัดวงจรนักสูบหน้าใหม่ เนื่องจากหากผู้สูบบุหรี่เริ่มตั้งแต่อายุน้อย โอกาสเลิกสูบบุหรี่สำเร็จยิ่งเกิดขึ้นได้น้อย ดังนั้นการแก้ปัญหาตั้งแต่ช่วงที่เป็นเยาวชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว


น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวอีกว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน “โรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ 14 จังหวัดภาคใต้” ในวันนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือโรงเรียนปอเนาะทั้ง 70 แห่ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้การขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสูบในเยาวชนจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้นำศาสนา ครูผู้สอน ผู้ปกครองและคนในชุมชน เพื่อร่วมกันหาทางออกและทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง โรงเรียนและชุมชนในการเฝ้าระวังไม่ให้เยาวชนเข้าไปสู่วงจรของสิงห์นักอมควันหน้าใหม่ โดย สสส. จะทำหน้าที่ในการเชื่อม สาน และเสริมพลังให้หน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินงานควบคุมยาสูบ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เยาวชนและคนในชุมชน


“สสส. โดยสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้สนับสนุนโครงการ “พหุวัฒนธรรมหนุนเสริมศักยภาพชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสุขภาพคนใต้” ภายใต้การรับผิดชอบของมูลนิธิคนเห็นคน ตั้งแต่ปี 2562 โดยมุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ความเชื่อและบริบทในพื้นที่ของภาคใต้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้าง สานพลังพหุวัฒนธรรมทั้ง 3 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ร่วมกันขยายพื้นที่และพัฒนาศักยภาพ ให้เกิดศาสนสถานที่ปลอดปัจจัยเสี่ยง ต้นแบบมัสยิดที่พึงประสงค์ด้านการลดปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการดำเนินงานโรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ที่ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว


นายสัตวแพทย์ปกรณ์ สุวรรณประภา
ประธานมูลนิธิคนเห็นคน กล่าวว่า จากการสำรวจของนักวิชาการประจำโครงการ “พหุวัฒนธรรมหนุนเสริมศักยภาพชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสุขภาพคนใต้” พบว่า นักเรียนของ โรงเรียนปอเนาะ ก็พบพฤติกรรมการสูบบุหรี่มากเช่นกัน อีกทั้งมีบุคคลในครอบครัวเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ยังปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจสูบบุหรี่ของนักเรียน ส่งผลให้สถานการณ์การสูบบุหรี่ยิ่งสูงขึ้น 


ดังนั้น เพื่อเป็นการรณรงค์ให้นักเรียนมีพฤติกรรม ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ให้ได้ในที่สุด และนำไปสู่เป้าหมายการเป็น “ปอเนาะปลอดบุหรี่” จึงนำมาสู่พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้กิจกรรม “ปอเนาะปลอดบุหรี่” ขึ้นเพื่อร่วมกันทำข้อตกลง สร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ เพื่อการขับเคลื่อนปอเนาะปลอดบุหรี่เป็นไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือโรงเรียนปอเนาะ จาก 14 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมบันทึก MOU จำนวน 70 โรงเรียน

No comments:

Post a Comment

Pages