133 ปี รพ.ศิริราช 104 ปี ภาควิชาศัลยศาสตร์ ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย - All Miles

Breaking

Home Top Ad

Friday, April 2, 2021

133 ปี รพ.ศิริราช 104 ปี ภาควิชาศัลยศาสตร์ ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย



วันที่ 31 มี.ค. 64 เวลา 10.00 น. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานแถลงข่าวเปิดโครงการ “รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ.ศ. 2564 - 2565 โดยมี รศ. นพ.เฉนียน เรืองเศรษฐกิจ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ รศ. ดร. นพ.วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์ รศ. นพ.สิทธิพร ศรีนวลนัด หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา ผศ. นพ.วรบุตร ทวีรุจจนะ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป พร้อมด้วยผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 รพ.ศิริราช


ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า นับเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานกำเนิด รพ.ศิริราช จนถึงปัจจุบัน 133 ปี รพ.ศิริราชให้บริการรักษาผู้ป่วยโดยไม่เลือกเศรษฐานะตามพระราชปณิธานเสมอมา และในโอกาส 104 ปี ภาควิชาศัลยศาสตร์ (เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2460 มีประกาศจัดตั้งกองศัลยกรรมเป็นหน่วยงานย่อยในคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลศิริราช) จนเมื่อ พ.ศ. 2512 มีประกาศจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล จึงกำหนดให้หน่วยงานที่เป็นแผนกวิชาเปลี่ยนเป็นภาควิชาตั้งแต่นั้นมา ภาควิชาศัลยศาสตร์จึงถือเป็นหนึ่งในเสาหลักที่มั่นคงแข็งแรงที่ต่อยอดไปสู่สาขาวิชาอื่น ๆ ตลอดระยะเวลามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างผลงานและนวัตกรรม มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ



ด้วยระยะเวลา 133 ปี รพ.ศิริราช และ 104 ปี ภาควิชาศัลยศาสตร์ จึงเป็นที่มาของโครงการ “รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงโดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ.ศ. 2564-2565 โดยเฉพาะผู้ป่วยด้อยโอกาสซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ป่วยได้หายจากโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข โดยไม่เป็นภาระแก่สังคม  สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ป่วยทั้ง 237 รายนี้ จะต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และได้รับการวินิจฉัยว่า จะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ โดยต้องผ่านการประเมินเศรษฐานะจากนักสังคมสงเคราะห์ รพ.ศิริราช ผู้ป่วยในโครงการจะได้รับการรักษาและเข้าพักในหอผู้ป่วยสามัญเท่านั้น




รศ. นพ.เฉนียน เรืองเศรษฐกิจ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวถึง 104 ปี พัฒนาการด้านการรักษาโรคด้วยการผ่าตัดว่า “ศัลยศาสตร์ศิริราช ได้ก่อตั้งเป็นที่แรกของวงการศัลยศาสตร์ในประเทศไทย โดยมีบูรพคณาจารย์เป็นผู้วางรากฐาน และสืบสานจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมาต่อยอดเติบใหญ่ จนมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตลอดเวลามีการพัฒนาในทุก ๆ ด้านอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้อาจารย์มีการพัฒนาศักยภาพจนเป็นบุคคลากรชั้นนำการริเริ่มการรักษาใหม่ ๆ ให้ทัดเทียมสากล การสนับสนุนแนวคิดด้านนวัตกรรมทางการเรียนการสอน สร้างศัลยแพทย์มากมาย และนวัตกรรมทางศัลยศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาควิชาศัลยศาสตร์เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางให้กับวงการศัลยศาสตร์ของประเทศ”



รศ. ดร. นพ.วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป กล่าวถึง การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ว่า “ การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในปัจจุบันยังมีค่าใช้จ่ายสูงและมีใช้ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ไม่กี่แห่ง การผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อนมาก เช่น การผ่าตัดต่อมลูกหมาก การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ การผ่าตัดเนื้องอกหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร เนื้องอกตับอ่อน ไส้เลื่อนช่องกะบังลม เป็นต้น การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์เริ่มแพร่หลายมากขึ้น แพทย์จะแนะนำให้คนไข้เลือกวิธีการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดซึ่งเป็นความก้าวหน้าของวงการแพทย์ แม้ว่าแพทย์ที่ทำการผ่าตัดจะต้องผ่านการฝึกฝน และทดสอบจนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อฝึกใช้งานหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจนคล่องแคล่วแล้ว แพทย์ก็จะสามารถผ่าตัดที่ซับซ้อน และทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่อีกต่อไป คุณภาพชีวิตของคนไข้ก็ดีขึ้นตามไปด้วย หากแต่ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญในเรื่องค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ค่าเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์มูลค่าหลายสิบล้าน ส่งผลให้ค่าผ่าตัดต่อครั้งอยู่ที่หลักหลายแสนบาท แต่ในอนาคตเราก็หวังว่าสิ่งใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพคนไข้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างทั่วถึงในที่สุด ”


รศ.นพ.สิทธิพร ศรีนวลนัด หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา กล่าวถึง การผ่าตัดรักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะด้วยหุ่นยนต์ว่า “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่มีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic surgery) โดยริเริ่มผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นรายแรกของประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ถือเป็นจุดเริ่มต้นและสร้างชื่อเสียงของสถาบัน

การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นที่ยอมรับทั้งในแง่ของระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วยอย่างเร็ว ภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัดน้อย รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้ในการผ่าตัดต่อยอดเพิ่มขึ้น เช่น การผ่าตัดมะเร็งที่ไต หรือการผ่าตัดแก้ไขภาวะอุดตันของท่อไต เป็นต้น ปัจจุบันได้จัดโครงการเพื่อพัฒนาความรู้สู่ศูนย์ความเป็นเลิศ Center of Excellent ในด้านการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากให้เป็นโครงการที่สร้างชื่อเสียงของสาขาวิชาศัลยศาสตร์ ยูโรวิทยา เราได้ทำการผ่าตัดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากไปแล้วกว่า 2,300 ราย ซึ่งนับเป็นการผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมากที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีกทั้งได้มีการพัฒนาศักยภาพการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ให้ได้หลากหลายมากขึ้น สามารถผ่าตัดครอบคลุมโรคระบบทางเดินปัสสาวะมากขึ้น เช่น ผ่าตัดไต ต่อมหมวกไต และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น อีกทั้งยังลดภาวะแทรกซ้อนทางการผ่าตัด เช่น ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นลง แผลจากการผ่าตัดมีขนาดเล็ก อาการปวดแผลหลังการผ่าตัดน้อยลง สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของแผลผ่าตัดได้ ”


ผศ. นพ.วรบุตร ทวีรุจจนะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป กล่าวถึง การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนด้วยหุ่นยนต์ว่า “ปัจจุบันการผ่าตัดโรคอ้วนด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดทำกันทั่วโลก เนื่องจากช่วยให้คนไข้ปลอดภัย แผลผ่าตัดขนาดเล็ก เจ็บแผลน้อย และเกิดผลแทรกซ้อนต่าง ๆ น้อยเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธียังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการผ่าตัดได้ทุกระบบ เช่น การผ่าตัดมะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี เป็นต้น


นอกจากนี้การผ่าตัดด้วยวิธีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะโรคอ้วนทุพพลภาพ (Robotic-assisted bariatric surgery) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบันสามารถทำได้ปลอดภัย และให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง สามารถลดน้ำหนักคนไข้ได้มาก และทำให้โรคประจำตัวต่าง ๆ ของคนไข้ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น หายขาดหรือดีขึ้น ทำให้คนไข้มีสุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาวขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีขึ้นภายหลังการผ่าตัดอีกด้วย สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจและมีความสุข อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยวิธีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้น มีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ เรื่องค่าใช้จ่ายสูงทำให้คนไข้เข้าถึงได้ยาก ดังนั้น การมีโครงการช่วยเหลือครั้งนี้ จะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มากขึ้น นับเป็นประโยชน์แก่คนไข้อย่างยิ่ง ”


“ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พร้อมด้วยศักยภาพของทีมศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่งผลให้การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ประสบผลสำเร็จ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี คณะฯ จึงมีความยินดีที่จะช่วยประชาชนชาวไทยทุกคนให้เข้าถึงการรักษาด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากได้ทราบข่าวและมีจิตศรัทธายินดีร่วมสมทบกองทุนเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สามารถติดต่อบริจาคสมทบทุนโครงการฯ แจ้งความประสงค์สมทบทุน ได้ที่ศิริราชมูลนิธิ รหัสทุน D707070 จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. (หยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนัตฤกษ์) สอบถาม โทร. 02 419 7658-60 LINE: @sirirajfoundation หรือสอบถามข้อมูลผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการได้ที่ ภาควิชาศัลยศาสตร์ รพ.ศิริราช โทร. 02 419 7611 หรือ โทร. 02 419 7132





ในโอกาสเดียวกันนี้ ในวันที่ 1 เมษายน 2564 มีพิธีเปิด Grand Opening พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ เป็นบันทึกความทรงจำอันยิ่งใหญ่ของศัลยศาสตร์ศิริราช จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน  นำท่านสู่จุดกำเนิดแห่งวงการศัลยแพทย์ไทย...บอกเล่าเรื่องราวของภาควิชาศัลยศาสตร์ ที่มีอายุยาวนานกว่า ๑๐๔ ปี  พบกับปูชนียแพทย์ที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานการผ่าตัด  สัมผัสบรรยากาศห้องผ่าตัดจำลองในยุคต่าง ๆ ราวกับได้เข้าไปมีส่วนร่วมในห้องผ่าตัดยุค นั้น ๆ  ได้เรียนรู้โรคทางศัลยกรรมที่หลากหลาย ทั้งโรคที่พบบ่อยจนไปถึงโรคที่หายากต้องอาศัยวิธีรักษาที่ซับซ้อนด้วยเทคนิคการผ่าตัดขั้นสูง โดยนำเสนอผ่านชิ้นเนื้อของจริงตามระบบอวัยวะต่าง ๆ ที่หาชมได้ยาก  ชมการผ่าตัดเสมือนจริงด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดภายใต้เทคนิคล้ำสมัยเหนือจินตนาการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน เวลา 10.00 - 16.30 น. (หยุดวันอังคาร และวันนักขัตฤกษ์)” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวปิดท้าย

No comments:

Post a Comment

Pages