ปิดฉากเวทีประชุมวิชาการสุรา เครือข่ายวิชาการ ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง แก้ไขพ.ร.บ.เหล้า ฉบับใหม่ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ-มาตรการคุมเข้ม “วิสาร” ปธ.กมธ.ร่างพรบ.คุมน้ำเมาฉบับใหม่ เผย กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นออกแบบนโยบายเอง พร้อมเพิ่มโทษขายให้เด็ก-คนเมา จ่อเสนอสภาฯ ธ.ค.นี้
วันที่ 15 พ.ย. 2567 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ในพิธีปิดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ : ก้าวข้ามจุดบกพร่อง มุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน” จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย
โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องอาศัยความรู้ ข้อมูลวิชาการ ควบคู่การขับเคลื่อนภาคประชาสังคม และภาคนโยบาย เพื่อเสริมความเข้มแข็งและยั่งยืนในการขับเคลื่อนนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยที่มีเจตนารมณ์เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ที่ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2554 มีแนวโน้มเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 4.6% เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 3% ในปี 2560 ทั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย พร้อมสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดงานวิจัย/งานวิชาการและพัฒนาศักยภาพนักวิจัยทั้งในระดับส่วนกลางและพื้นที่ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองผู้อำนวยการ ศวส. กล่าวว่า ศวส. และภาคีเครือข่ายขอเรียกร้องต่อพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงนักการเมือง ที่มีบทบาทในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ 1.ประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิชอบธรรมมีชีวิตที่ปลอดภัยจากผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การออกกฎหมายที่ก่อให้เกิดอันตราย ถือเป็นการละเมิดสิทธิ 2.ไม่ยินยอมให้มีการแทรกแซงหรือชักนำจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกลุ่มธุรกิจที่มีผลประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม 3. การขายให้เด็กหรือผู้ที่มีสภาพเมา หรือมีการละเมิดกฎหมายอย่างจงใจซ้ำ ๆ เพื่อประโยชน์ทางการค้า ควรเพิ่มโทษทางปกครอง โดยการสั่งปิด หรือห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ หากกระทำผิดซ้ำอีกให้พิจารณายึดใบอนุญาต
“4. บูรณาการระหว่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพ.ร.บ.สรรพสามิต เพื่อควบคุมการออกใบอนุญาต การระงับใบอนุญาต และเงื่อนไขการขายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เพื่อความสะดวกของผู้ประกอบการ 5. ควรมีแผนแม่บทในการเพิ่มภาษีเป็นระยะ ๆ เพื่อควบคุมการบริโภคให้ลดลง 6. การปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรมีทิศทางที่ลดการควบคุมวัน เวลา สถานที่ขายและดื่ม รวมถึงการโฆษณา โดยคณะกรรมการควบคุมมีอำนาจกำหนดข้อยกเว้นและกระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังคณะกรรมการควบคุมระดับจังหวัด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการอนุญาต 6. การปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรมีการประเมินความเสี่ยงด้านผลกระทบโดยหน่วยงานทางวิชาการ และพิจารณาอย่างรอบด้าน” รองผู้อำนวยการ ศวส. กล่าว
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กล่าวว่า การประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งนี้ นับเป็นการขับเคลื่อนครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งตนเป็นประธานกมธ. วิสามัญฯ ชุดนี้ ซึ่งมีการพิจารณาแก้ไขสาระสำคัญแล้ว คือ 1.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จากเดิมที่อำนาจการออกกฎหมายอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยกระจายอำนาจผ่านคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นรองประธาน และมีตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชน และภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยกำหนดคุณสมบัติไม่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าร่วมเป็นกรรมการฯ เพื่อป้องกันการออกฎหมายเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ
นายวิสาร กล่าวต่อว่า 2.เพิ่มความยืดหยุ่นการทำงานของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด เพื่อออกนโยบายที่เหมาะสมกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและผลกระทบของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการของร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ ไปเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ฯ แล้วเสร็จไปกว่า 80% คาดว่าจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันในสมัยประชุมนี้ที่จะเปิดประชุมสภาฯ ในวันที่ 12 ธ.ค. นี้ ทั้งนี้ มั่นใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทางสภาผู้แทนราษฎรจะนำเข้าสู่การพิจารณาเป็นวาระต้นๆ
นางสาวชลพรรษ เปียประโมง เครือข่ายเยาวชน YSDN THAILAND กล่าวว่า ในนามกลุ่มองค์กรเยาวชน YSDN ตัวแทนเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายสตรีและครอบครัว กล่าวว่า มีข้อกังวลในการแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ที่มุ่งเป้าหวังกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะส่งผลให้เพิ่มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น โดยเฉพาะ 1.การเพิ่มพื้นที่จำหน่ายและพื้นที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ราชการ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณของการสร้างแบบอย่างในการดื่ม และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบในเด็กและเยาวชน 2.การเพิ่มเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การนำร่องขยายเวลาเปิดสถานบริการใน 5 พื้นที่ มาแล้วเกือบ 1 หนึ่งปี แต่ยังไม่มีการประเมินผลสำเร็จของมาตรการ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และบุคคลที่มีอาการมึนเมา ให้ชัดเจนมากขึ้น และนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง
No comments:
Post a Comment