คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นำโดย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ประธานกรรมการ พร้อมด้วยคณะกรรมการปฏิรูปฯ อาทิ ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา นพ.โสภณ เมฆธน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน และ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมพิจารณาข้อเสนอการขับเคลื่อนเขตสุขภาพ มีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาเขตสุขภาพ ที่มีการบริหารจัดการแบบบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่อย่างประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐรูปแบบใหม่ (Sandbox) ซึ่ง Sandbox จะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยปลดล็อคอุปสรรคของระเบียบกฎเกณฑ์ทางราชการให้สามารถดำเนินการทดสอบหรือพัฒนานวัตกรรมได้อย่างอิสระ โดยเป็นการทดลองในวงจำกัด ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลและควบคุมความเสี่ยงต่างๆ คู่ขนานไปด้วย เพื่อให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้ก่อนการขยายผลหรือปรับปรุงกฎหมาย ตลอดจนเป็นการสานพลังความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ไปพร้อมกันต่อไป
ข้อเสนอการขับเคลื่อนเขตสุขภาพเกิดขึ้น จากปัญหาความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน และการดำเนินงานที่เป็นอยู่ไม่ได้แก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาจากส่วนกลาง อำนาจการบริหารจัดการของแต่ละเขตไม่เบ็ดเสร็จ แยกส่วน การจัดสรรทรัพยากรด้านกำลังคนมีความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการจัดทำกลไกการบูรณาการและการจัดการเขตสุขภาพในรูปแบบ Sandbox จึงเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข
สำหรับข้อเสนอการขับเคลื่อนเขตสุขภาพที่สำคัญแบ่งเป็น 5 มิติ ได้แก่ 1) ด้านกำลังคน 2) ด้านข้อมูลสารสนเทศ 3) ด้านเทคโนโลยีสุขภาพ 4) ด้านการเงินการคลัง 5) ด้านภาวะผู้นำและอภิบาลระบบ ซึ่งทั้ง 5 มิติดังกล่าวจะนำไปสู่ระบบบริการเขตสุขภาพที่พึงประสงค์หลัก 5 เรื่อง ได้แก่ 1) การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ 2) โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) 3) ผู้สูงอายุ 4) หลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้อง 5) นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ส่งผลโดยรวมให้สุขภาวะของประชาชนดีขึ้น มีการตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพ มีการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินและทางสังคม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสุขภาพ โดยเสนอ 4 เขตสุขภาพนำร่อง ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1,4,9,12 ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขมีประเด็นแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ อาทิ มิติของ Sandbox ควรเพิ่มระบบบริการ เนื่องจากระบบบริการมีผลต่อการประเมินความสำเร็จของระบบบริหารจัดการ การบริหารแบบแบ่งเป็นเขตจะเห็นช่องว่างในการพัฒนาได้เป็นอย่างดี และควรนำ Six building blocks มาเป็นกรอบในการดำเนินงาน ประเด็นการส่งเสริมป้องกันโรคต้องทำให้ชัดเจนมากขึ้น สำหรับการดำเนินงานในรูปแบบ Sandbox ควรมีการระบุพื้นที่การดำเนินงาน เป้าหมาย และผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน เป็นต้น โดยคาดว่าการขับเคลื่อนข้อเสนอดังกล่าวจะแล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา Sandbox เขตสุขภาพ ภายในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่ง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จะเตรียมการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยคู่ขนานให้กับการดำเนินโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขแล้ว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการนำเสนอเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ (Innovation Sandbox) เพื่อสร้างโอกาสจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กับประเทศ ซึ่งตามพระราชบัญญัติของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มาตรา 14 กำหนดให้สามารถจัดตั้ง Sandbox เพื่อส่งเสริมการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่และพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง โดยให้ได้รับการส่งเสริมและรับสิทธิประโยชน์ ตลอดจนได้รับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ซึ่งการดำเนินการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่เป็นการผสานแนวคิดระหว่างการวิจัย นวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจ ที่มีความสำคัญและส่งผลต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป
No comments:
Post a Comment