เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการ รพ.สงฆ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อร่วมมือพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ผ่านระบบเทคโนโลยี โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศ ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศของทั้งสองหน่วยงาน มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่พระภิกษุสงฆ์ในเขตบางกอกน้อย ถือเป็นต้นแบบด้าน สุขภาวะเขตเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ในการขยายการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ. ศิริราช
ทั้งนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระเมตตาประทานพระคติธรรมเพื่อเผยแผ่ในพิธีลงนาม โดยมี พระเทพสุวรรณเมธี เป็นพระผู้แทนกล่าวคติธรรม ในพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับพระสงฆ์ ผ่านระบบเทคโนโลยี ซึ่งทรงรับไว้ในพระสังฆราชูปถัมภ์ นับเป็นพระกรุณาธิคุณ เป็นสิริมงคลอย่างยิ่งแก่ผู้เข้าร่วมพิธี
ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พระสงฆ์ถือเป็นผู้สืบสานพระพุทธศาสนา การร่วมกันดูแลสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์ถือเป็นการทำนุบำรุงศาสนาโดยความร่วมมือดังกล่าว เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสนับสนุนพัฒนาการบริการด้านการสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้ยังเป็นโอกาสในการพัฒนารูปแบบการส่งต่อข้อมูล การให้บริการ และการเบิกจ่ายในอนาคต เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ตั้งแต่เริ่มต้นคือการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการดูแลในวาระสุดท้าย อันเป็นการเสริมสร้างบทบาทสถาบันศาสนาให้เป็นเสาหลักในการดูแลสุขภาพสงฆ์ด้วยกันเอง และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้พระสงฆ์สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุม
นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลสงฆ์มีความยินดีอย่างยิ่งในการร่วมมือดำเนินโครงการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันทางกรมการแพทย์ ได้มีการขับเคลื่อนโครงการ Cancer Anywhere ผู้ป่วยมะเร็งรักษาได้ทุกที่ ซึ่งในอนาคตก็หวังว่าจะมีการพัฒนา Priest Anywhere เพื่อให้พระสงฆ์สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุม และมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์ให้มีความเข็มแข็ง และยั่งยืน อันจะส่งผลให้พระสงฆ์มีสุขภาวะที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่และบำรุงบวรพระพุทธศาสนาต่อไป
ซึ่งที่มาในการดำเนินโครงการในครั้งนี้เกิดจาก การสนับสนุนทุนวิจัยจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศ ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์
รศ. พญ.อรุโณทัย ศิริอัศวกุล รองหัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ และทีมผู้วิจัย ได้ศึกษาข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์ พบว่า พระสงฆ์และสามเณรอาพาธมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ 3 อันดับแรก ประกอบด้วย โรคไขมันในเลือดสูง รองลงมาคือ โรคความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวาน (ข้อมูลจากโรงพยาบาลสงฆ์ ปี พ.ศ. 2559) และได้ดำเนินการสำรวจความเห็นด้านการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ในเขตบางกอกน้อย พบว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานดำเนินการแก้ไขปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์แต่ยังเป็นเพียงโครงการเฉพาะกิจ ไม่ได้มีการกำหนดเป้าหมายการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ขาดการเชื่อมต่อของการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้การดูแลสุขภาพของพระสงฆ์มีความหลากหลาย ไม่จำเพาะ ไม่ต่อเนื่อง พระสงฆ์เกิดความสับสน ไม่ทราบข้อมูลสุขภาพ และไม่สามารถจัดการสุขภาพของตนเองเมื่อต้องปฏิบัติธรรมในสถานที่ที่ไม่มีสิทธิ์การรักษา พบปัญหาการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ บางครั้งขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิการรักษา และมีความไม่เพียงพอในการจัดเตรียมพื้นที่ให้บริการสำหรับพระสงฆ์
ดังนั้น หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ จึงได้รวบรวมทีมงานทั้งผู้เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพจากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพจากภาคเอกชน ร่วมกับการมีส่วนร่วมกับพระสงฆ์ในเขตบางกอกน้อย โดยในโครงการนี้ มีความคาดหวังที่จะสร้างต้นแบบการดูแลสุขภาพพระสงฆ์แบบบูรณาการ ครบวงจร สนับสนุนให้มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และสื่อมาใช้ในการดูแลสุขภาพ โดยจะมีโครงการย่อยทั้งหมด 8 โครงการ ได้แก่
1. โครงการสนับสนุนให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี และมีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่าง โรงพยาบาลศิริราชและ โรงพยาบาลสงฆ์
2. โครงการพัฒนาสื่อการดูแลสุขภาพออนไลน์ให้เหมาะสมกับโรคและช่วงวัย (Best practice)
3. โครงการวิจัยพัฒนาระบบ machine learning เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ
ที่มีภาวะเปราะบาง
4. โครงการพัฒนาฐานข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์เพื่อการประมวลผล แจ้งเตือนและตอบกลับเรื่องวิธีการปรับพฤติกรรมสุขภาพ
5. โครงการพัฒนา Telemedicine ผ่าน kiosk
6. โครงการจัดบริการหอผู้ป่วยพระสงฆ์ของโรงพยาบาลศิริราช
7. โครงการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพโดยมีการอบรม health coach ดำเนินการร่วมกับพระคิลานุปัฏฐาก
8. โครงการอบรมร้านค้า และ ประชาชนให้มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทของการมีส่วนร่วมในการดูแลและใส่ใจสุขภาพพระสงฆ์
No comments:
Post a Comment