สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ - All Miles

Breaking

Home Top Ad

Monday, January 17, 2022

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่


เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 เวลา 9 นาฬิกา 31 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฯ ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง บ้านเลอะกรา (เลอะ-กรา) ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน.ภาคเหนือ ซึ่งได้สนองงานโครงการตามพระราชดำริ อาทิ พัฒนาศักยภาพของครูในพื้นที่ทรงงาน ให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาระบบโปรแกรมฐานข้อมูลสารสนเทศของศูนยการเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาฯ


กศน. ภาคเหนือ ได้ดำเนินงานตามพระราชกระแส ในการให้อนุรักษ์การเล่นดนตรีเตหน่ากู ของชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง ที่ใช้เล่นในงานปีใหม่ เกี้ยวพาราสี เล่านิทานสอนใจ โดยได้ศึกษาดนตรีเตหน่ากู กับภูมิปัญญาชาวบ้านในอำเภออมก๋อย แล้วจัดทำเป็นแผ่นวีดิทัศน์ แจกให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ ปัจจุบัน ทายาทของภูมิปัญญาชาวบ้าน ยังได้พัฒนาเครื่องดนตรีเตหน่ากู ให้สามารถเล่นร่วมกับดนตรีสากลได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้นักเรียนฝึกทอผ้าลายพื้นเมือง ได้แก่ ลายลูกลาน ลายตาแมวป่า ลายเถาวัลย์และลายน้ำไหล โดยทรงรับซื้อผ้าทอผลงานของชาวบ้านและนักเรียน เพื่อไปวางจำหน่ายที่ร้านภูฟ้า

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยระดับประถมศึกษาใช้เพลงเป็นสื่อการสอนและการจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐานโครงงานพัฒนาผู้เรียน

ด้านโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีผลผลิตไม่เพียงพอ ทางศูนย์การเรียนฯ ได้ซื้อวัตถุดิบจากชุมชนมาประกอบอาหารให้นักเรียน โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรให้แก่ครู นักเรียน พร้อมกับสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และอุปกรณ์และกรมปศุสัตว์ สนับสนุนไก่พื้นเมือง ไก่พันธุ์ไข่ เป็นต้น ส่วนกรมประมง สนับสนุนลูกพันธุ์ปลาดุกอุยเทศและอาหารปลา


ราษฎรในหมู่บ้าน ที่เข้าเกณฑ์การรับวัคซีนโควิด-19 มีจำนวน 96 คน และได้รับการฉีดวัคซีนแล้วทุกคน โอกาสนี้ ผู้แทนบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แก่สถานบริการสาธารณสุข ในอำเภออมก๋อย ซึ่งศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง บ้านเลอะกราและในหมู่บ้าน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่แบตเตอรี่เสียบ่อย ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนไฟฟ้า ในการนี้ มีพระราชดำรัส ให้ผู้เกี่ยวข้องฝึกอบรมชาวบ้านและครู ให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้แบตเตอรี่และการดูแลรักษา

จากนั้น ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามพระราชดำริ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่เริ่มดำเนินโครงการ เมื่อปี 2559 ปัจจุบันมีสมาชิก 972 คน พื้นที่ดำเนินการ 4,120 ไร่ มีพรรณไม้ อาทิ ไม้สัก ประดู่ พะยูง และ มะค่าโมง

โดยมีศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เข้าไปช่วยฝึกอบรมกลุ่มเกษตรกรบ้านทุ่งงิ้ว ในหลักสูตรการเก็บหาของป่าอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ในปี 2564 ชาวบ้านสามารถรวมกลุ่มกัน จำนวน 10 คน ทำมะขามป้อมตากแห้ง ส่งขายให้แก่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อยฯ เพื่อขายต่อให้กับบริษัททำสมุนไพร ได้จำนวน 4 ตัน สร้างรายได้ให้กับกลุ่มกว่า 2 แสนบาท นอกจากนี้ ยังอบรมหลักสูตรการดูแลบำรุงรักษาต้นกาแฟ ควบคุมโรคแมลงศัตรูพืช การตัดแต่งต้นกาแฟและการแปรรูปกาแฟเชอรี่แบบ Dry process แก่เกษตรกรที่ปลูกกาแฟ โดยนำเมล็ดกาแฟมาล้างให้สะอาด แล้วตากแดด 20 วัน ให้แห้ง สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่กาแฟมากยิ่งขึ้น


เวลา 11 นาฬิกา 51 นาที เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งกองบินตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดถวาย ไปยังบ้านสบโขง ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริฯ ที่โรงเรียนล่องแพวิทยา เป็นครั้งที่ 2

โรงเรียนฯ นี้ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งขึ้นเป็นทางการในปี 2527 เปิดทำการสอนแก่เด็กด้อยโอกาสบนพื้นที่สูงในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก

ในระดับชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบัน มีครู 43 คน, มีนักเรียน 674 คน ในจำนวนนั้น เป็นนักเรียนบ้านไกล พักนอนที่โรงเรียน จำนวน 486 คน และมีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ที่กำลังศึกษาอยู่ 7 คน โดยโรงเรียนได้ผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเปิดทำการสอนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564

ด้านการส่งเสริมพัฒนาการ นักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 ได้จัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ "การเล่านิทาน เพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม" และกิจกรรม "บ้านวิทยาศาสตร์น้อย" เพื่อฝึกทักษะการเป็นนักคิด นักสังเกต

ด้านการเรียนการสอน ระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น มีการจัดทำห้องเรียน "กะเหรี่ยงประถม ก. กา Model" เพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนที่อ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ โดยให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดในใบงาน แล้วเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ก่อน-หลัง ใช้ชุดฝึกประสบการณ์ โดยมีพี่ระดับประถมศึกษาตอนปลาย มาเป็นพี่เลี้ยงช่วยสอนน้อง ส่วนกิจกรรมภาษาไทยผู้ใหญ่บนพื้นที่สูง ได้จัดอบรมให้นักเรียนกล้าแสดงออกและปลูกฝังการเป็นครู ด้วยการให้ทำภารกิจกลับไปสอนพื้นฐานภาษาไทยในชีวิตประจำวันภายในครอบครัว เช่น การไปพบแพทย์และการติดต่อราชการ เป็นการทบทวนความรู้ เสริมความเข้าใจ สร้างความภาคภูมิใจได้เป็นอย่างดี

ด้านกิจกรรมห้องสมุด ได้จัดกิจกรรมรักการอ่านแก่นักเรียนซึ่งส่วนใหญ่สนใจหนังสือนิทานและการ์ตูน จึงส่งเสริมการอ่านด้วยการให้รวมกลุ่ม โดยรุ่นพี่นำนิทานมาเล่าหน้าเสาธงทุกวันจันทร์ อีกทั้งให้จัดทำและออกแบบวาดภาพหนังสือเล่มเล็ก โดยเลือกเรื่องที่สนใจ มาสร้างเป็นรูปเล่ม เพื่อฝึกการแบ่งงาน ความสามัคคี คิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์


ส่วนกิจกรรมทักษะวิชาชีพ ได้ฝึกทักษะอาชีพตามความชอบและการอนุรักษ์วัฒนธรรมภูมิปัญญาประจำถิ่น เช่น การทอผ้ากะเหรี่ยง การแปรรูปผ้า การทำเบเกอรี่ ปูนปั้นลายไม้ งานซ่อมเครื่องยนต์ขนาดเล็กและเกษตรกรรม ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้น ช่วยให้นักเรียน มีความรู้ความชำนาญ สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง เป็นการสร้างรายได้ระหว่างเรียนด้วย

ส่วนห้องเรียนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนได้รับพระราชทานโทรทัศน์และชุดอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม เพื่อใช้ในการศึกษา ซึ่งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด มหาชน ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เพื่อพระราชทานแก่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่อยู่ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ จำนวน 161 แห่ง


ด้านกิจกรรมการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช มีการนำบุก ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่น มาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์โครงสร้างของพืชดังกล่าว เพื่อนำมาขยายพันธุ์อนุรักษ์ไว้ ไม่ให้สูญพันธุ์

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กองทัพอากาศ ร่วมกับ "ศูนย์พัฒนาคุณธรรม 3 ดี" เข้าไปจัดกิจกรรม "โครงการก้าวตามรอยพ่อสานต่อความดี" โดยมีการแนะแนวการศึกษา พัฒนาพื้นที่โรงเรียนและช่วยเหลือเด็กพิการ เพื่อให้นักเรียนในถิ่นทุรกันดารได้รับโอกาสทางการศึกษา การสาธารณสุขและการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

สำหรับ ผลผลิตจากโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีไม่เพียงพอ เนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่จำกัด จึงได้จัดหาเพิ่มเติมจากการทำกิจกรรมโครงการเกษตรในโรงเรียน ที่ฝึกทักษะอาชีพเกษตรกรรมแก่นักเรียน โดยดำเนินการรับซื้อวัตถุดิบจากท้องตลาด และรับซื้อในท้องถิ่น ซึ่งจัดทำในรูปแบบของสหกรณ์


การดำเนินการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและยังมีวัตถุดิบในประกอบอาหารกลางวัน ที่เพียงพอตลอดทั้งปีอีกด้วย

เวลา 15 นาฬิกา 41 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยัง มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปี 2565 ของคณะกรรมการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โดยมีระเบียบวาระการประชุม อาทิ ในปี 2564 ได้บริการทำขาเทียมทั้งแบบทำใหม่ และให้บริการซ่อมแซมแก่คนพิการ ทั้งที่สำนักงานมูลนิธิฯ จังหวัดเชียงใหม่ และโรงงานทำขาเทียมพระราชทานทั่วประเทศ 94 แห่ง รวมจำนวน 3 พัน 619 ขา นอกจากนี้ ได้ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ผลิตบุคลากรด้านกายอุปกรณ์ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาช่างเทคนิคกายอุปกรณ์ โดยในปีการศึกษา 2563 มีนักศึกษาสำเร็จการศึกษา จำนวน 14 คน ร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือทีไอซีเอ กระทรวงต่างประเทศ ผลิตบุคลากรทางด้านกายอุปกรณ์เทียม และจัดตั้งโรงงานทำขาเทียมในสาธารณรัฐเซเนกัล และจัดฝึกอบรมช่างเครื่องช่วยคนพิการ ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่

สำหรับมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ด้วยทุนจดทะเบียนส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อจัดทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาดทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า

No comments:

Post a Comment

Pages