สวทช. หนุนสตาร์ทอัพ Herbs Starter พัฒนาแพลตฟอร์ม ตลาดสินค้าชุมชนเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น GI OTOP Organic รายแรกของไทย - All Miles

Breaking

Home Top Ad

Tuesday, May 18, 2021

สวทช. หนุนสตาร์ทอัพ Herbs Starter พัฒนาแพลตฟอร์ม ตลาดสินค้าชุมชนเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น GI OTOP Organic รายแรกของไทย



แพลตฟอร์มพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมตลาดสินค้าเพื่อชุมชน ภายใต้ชื่อ “Herbs Starter” ผลงานหนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี 2563 หรือ SUCCESS 2020 ดำเนินงานโดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น GI OTOP Organic รายแรกของไทย พัฒนาต่อยอดให้เกษตรกรขับเคลื่อนธุรกิจได้เอง พร้อมเชื่อมโยงลูกค้าให้เข้าถึงชุมชน และสามารถนำองค์ความรู้กลับไปสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน


นางสาวอิสรีย์ นิตยสมบูรณ์
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท บอร์น อาร์ดีไอ เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า“Herbs Starter” เป็นสื่อกลางที่ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน แปรรูปสินค้าได้ตามต้องการ โดยแพลตฟอร์มนี้จะค้นหา ถ่ายทอด และส่งต่อเรื่องราวของสินค้า GI OTOP (Geographical Indications) คือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยในแต่ละพื่นที่ในประเทศไทย จะมีสินค้า OTOP ที่เรียกได้ว่าเป็นสมบัติชิ้นงานประจำพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถผลิตนอกพื้นที่ได้ เช่น กาแฟในป่า หมากเม่าจากเทือกเขา มะดันริมน้ำ ข้าวบนดอย กระเทียมน้ำแร่ และอีกมากมาย โดยแพลตฟอร์ม Herbs Starter จะค้นหา ถ่ายทอด และส่งต่อเรื่องราวของสินค้า GI OTOP มีอัตลักษณ์โดด เด่นส่งตรงถึงมือลูกค้า เพื่อยกระดับสินค้าเกษตร GI OTOP และ Organic ของไทย และเป็นสื่อกลางสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ทราบความต้องการของผู้บริโภคในท้องตลาด และที่สำคัญคือในการสร้างแพลตฟอร์มนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งตลาดสินค้าชุมชน GI OTOP Organic รายแรกของเมืองไทย ที่สามารถช่วยชุมชนในการพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาดได้ และทดสอบตลาดขายจริงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้น้อย เนื่องจากต้องลงทุนมากและเกษตรกรยังไม่มีความพร้อม แต่ในทางกลับกันหากเกษตรกรมีรายได้จากการขายสินค้าเกษตรนั้นๆ ผ่านทางช่องทางการตลาดจริงๆ เขาจะนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดผลผลิตที่มากขึ้น และสร้างรายได้มากขึ้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ GI เช่น กาแฟเทพเสด็จ ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ทำให้ต้นกาแฟค่อยๆ สะสมอาหาร เม็ดกาแฟจึงสมบูรณ์ และกาแฟมีกลิ่นหอมดอกไม้ป่า เป็นเอกลักษณ์ของกาแฟเทพเสด็จ ที่สามารถขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นกาแฟที่มีเอกลักษณ์ที่เกิดขึ้นได้เฉพาะพื้นที่นี้เท่านั้น

"ปัญหาของเกษตรกร ส่วนใหญ่จะคล้ายๆกัน ก็คือปลูกเก่ง แปรรูปขั้นต้นเก่ง แต่ว่ายังขายไม่ค่อยเก่ง แล้วที่สำคัญ เขาไม่รู้ความต้องการว่าตลาดต้องการอะไร ดังนั้นหน้าที่ของ Herbs Starter คือ ไปช่วยเขาคิด ช่วยเขาต่อยอดหรือแก้ปัญหาที่เขาติดขัดเล็กน้อย และเชื่อมโยงเขาสู่ตลาดได้จริงๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะทำให้เข้าถึงสินค้าได้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะในปัจจุบันโลกของออนไลน์ได้เข้ามาเป็นส่วนนึงของชีวิต ทำให้วิถีการใช้จ่ายได้เปลี่ยนไปมาก ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้เพียงปลายนิ้ว และสามารถดูข้อมูลได้ว่าสินค้านี้มาจากไหน แหล่งผลิตจากที่ใด และสินค้าที่ลูกค้าได้เลือกซื้อก็มีการรับรองและคัดสรรมาอย่างดี”


นางสาวอิสรีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปมาก ไม่นิยมออกมาซื้อสินค้าตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือแม้แต่ในชุมชนต่างๆ ต่างหันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์ และต้องมีการบริการที่รวดเร็ว และสินค้าต้องมีมาตรฐานเพื่อรับประกันสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ในสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนจากสินค้าที่เป็นของฝาก มาเป็นสินค้าที่สามารถใช้ หรือ รับประทานได้ เช่น มะเขือเทศเชอร์รี่ มะขามคลุกน้ำตาลไร้เมล็ด ขนมปังลำไย และกาแฟเทพเสด็จ 
ผู้สนใจสามารถเข้าไปรับชมเรื่องราวของสินค้าและสั่งซื้อได้ที่ www.facebook.com/herbsstarter


นางสาวอิสรีย์ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี 2563 (SUCESSS 2020) นั้น เพื่อต้องการหาโอกาสและช่องทางเปลี่ยนแปลงธุรกิจจากรูปแบบ SMEs ให้เป็นสตาร์ทอัพด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมีทิศทาง พร้อมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนผู้ประกอบการในสายเทคโนโลยีต่างๆ เช่น บริการทางขนส่ง ระบบบริการตลาด และการเงิน รวมถึงได้พบที่ปรึกษาที่สามารถปรับรูปแบบธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการพบปะกับกลุ่มนักลงทุนต่างๆ ทำให้ธุรกิจเติบโตก้าวกระโดดมากยิ่งขึ้น และปัจจุบันได้มีการทดสอบรูปแบบธุรกิจ Herbs Starter ร่วมกับโครงการ AGTECH4OTOP ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลไม้ ต.ท่าทราย ซึ่งจำหน่ายมะดันแช่อิ่มและมะดันอบแห้ง ทำยอดขายได้ถึง 1 แสนบาทต่อเดือน เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ จนปัจจุบัน Herbs Starter จัดอยู่ในส่วนของ e-market place ของ AGTECH Startup Lanscape ของ NIA เรียบร้อย

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ปี 2564 (SUCCESS 2021) ได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 พฤษภาคม 2564 ที่ www.facebook.com/NSTDABIC

No comments:

Post a Comment

Pages