WHO รับรองสถานที่ผลิต “ยา EFAVIRENZ TABLETS 600 MG” ของอภ. - All Miles

Breaking

Home Top Ad

Saturday, January 4, 2025

WHO รับรองสถานที่ผลิต “ยา EFAVIRENZ TABLETS 600 MG” ของอภ.


WHO
ให้การรับรองสถานที่ผลิต “ยา EFAVIRENZ TABLETS 600 MG” ของ องค์การเภสัชกรรม ตามมาตรฐานสากล WHO Prequalification Program (WHO PQ) ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 และยังคงอยู่ใน WHO Prequalified List บนเว็บไซต์ของ WHO


พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2568 องค์การอนามัยโลก (WHO) กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้สรุปผลการตรวจประเมินและให้การรับรองมาตรฐานสากล WHO Prequalification Program (WHO PQ) ให้กับสถานที่ผลิตยา Efavirenz Tablets 600 mg ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งผลิตที่โรงงานผลิตยารังสิต 1 คลอง 10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นับเป็นยารายการแรกของประเทศไทยและเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ได้รับรองมาตรฐานสากลดังกล่าว 


ทำให้คนไทยเข้าถึงยาชื่อสามัญที่มีประสิทธิผลการรักษาเทียบเท่ายาต้นแบบได้มากขึ้น ซึ่งครั้งนี้เป็นการตรวจประเมินสถานที่ผลิตยาครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 12-16 สิงหาคม 2567 ตามกำหนดการขององค์การอนามัยโลก เพื่อติดตามความสอดคล้องตามมาตรฐานและข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกในโปรแกรมการขอรับรอง WHO PQ ซึ่งต้องตรวจประเมินทั้งอาคารสถานที่ กระบวนการผลิต ระบบสนับสนุนการผลิต ระบบห้องปฏิบัติการการตรวจสอบ และที่สำคัญที่สุดคือระบบบริหารจัดการคุณภาพของโรงงาน โดยมีระยะเวลาการรับรองครั้งละ 3 ปี

จากการตรวจประเมินครั้งนี้ส่งผลให้รายการยา Efavirenz Tablets 600 mg ของ อภ. ยังคงอยู่ใน WHO Prequalified List บนเว็บไซต์ของ WHO เป็นการยืนยันว่า องค์การเภสัชกรรม ได้มีการพัฒนาและรักษามาตรฐานคุณภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นอย่างดี และมั่นใจได้ว่าทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรมที่ผลิตออกสู่ผู้บริโภคมีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งจะส่งผลให้หลายประเทศมีความเชื่อมั่นในคุณภาพผลิตภัณฑ์ของ องค์การเภสัชกรรมมากขึ้น อีกทั้งสามารถขึ้นทะเบียนตำรับยา Efavirenz รวมถึงยาต้านไวรัสเอดส์รายการอื่น ๆ ในต่างประเทศรวดเร็วขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้


“การวิจัย พัฒนา และผลิตยา Efavirenz นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญของการผลิตยาชื่อสามัญที่อภ.ได้ดำเนินการจนได้รับรองมาตรฐานระดับโลก อีกทั้งยังสามารถรักษามาตรฐานระดับโลกไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อภ. ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับสากล ทั้งนี้ยาชื่อสามัญในกลุ่มยาจำเป็นนับเป็นกลไกสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย ที่ทำให้คนไทยได้เข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลการรักษาเทียบเท่ายาต้นแบบได้มากขึ้น เนื่องจากราคาที่ถูกลง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่อภ.ต้องดำเนินการวิจัย พัฒนายาชื่อสามัญไว้ล่วงหน้า เพราะเมื่อยาต้นแบบหมดสิทธิบัตรลง ผู้ป่วยจะได้ใช้ยาชื่อสามัญในราคาที่ถูกลงต่อไปได้ทันที” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมกล่าวเพิ่มเติมในตอนท้าย

No comments:

Post a Comment

Pages